ตะคริว

ตะคริว

ตะคริว (Muscle Cramp) คือ การหดเกร็งตัวเป็นก้อนของกล้ามเนื้ออย่างกะทันหันแล้วไม่คลายตัวออก ทำให้รู้สึกเจ็บปวด จนไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อมัดที่เป็นตะคริวได้ มักจะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อที่ใช้งานหนักเป็นเวลานานหรืออาจจะแค่ไม่กี่นาทีก็เป็นได้ นักปั่นอย่างเราโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อขา ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง กล้ามเนื้อต้นขาข้างเข่าด้านใน

ออกกำลังกายหนักๆทำไม่ถึงเป็นตะคริว

ปวด ตึง เมื่อย กล้ามเนื้อนั้นคือสัญญาณที่บอกว่าร่างกายไม่สามารถจัดการกับของเสีย ที่เกิดจากขบวนการการเผาผลาญที่ไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic metabolism) ของเสียที่ว่านี้คือกรดแลคติก เจ้ากรดนี้จะทำให้กล้ามเนื้อล้า ถ้ายังฝืนทนต่อไปจะเป็นตะคริวได้ ดังนั้นถ้าต้องการไปต่อควรลดความเข้มข้นของกิจกรรมนั้นลง เช่น ปั่นให้ช้าลง วิ่งให้ช้าลง ไม่ควรหยุดในทันทีเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งไม่คลายตัว เมื่อลดความเข้มข้นของกิจกรรมลงสักพัก กรดแลคติก จะถูกเผาผลาญเป็นพลังงานจากขบวนการการเผาผลาญที่ใช้ออกซิเจน (aerobic metabolism) และอาการ ปวด ตึง เมื่อย กล้ามเนื้อ จะลดลงไปเอง

 

 

อากาศร้อนกับการเป็นตะคริว

แสงแดดแผดเผาท่ามกลางอุณหภูมิร้อนระอุ เป็นสภาพแบบนี้ร่างกายต้องทำงานหนักกับการระบายความร้อน เพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายไม่ให้ร้อนเกินไป สิ่งหนึ่งที่ร่างกายทำได้คือ การขับเหงื่อ สังเกตมั้ยว่าเหงื่อของเราจะมีความเค็มและเป็นกรด เมื่อเข้าตาก็จะแสบตา หรือถ้าเหงื่อหยดลงบนตัวถังจักรยานก็สามารถกัดสีเสียหายได้ นั้นเป็นเพราะเหงื่อไม่ได้มีแต่น้ำที่ออกมา แต่มีแร่ธาตุออกมาด้วย และเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำและแร่ธาตุ ไม่นานตะคริวจะถามหา วิธีป้องกันคือดื่มน้ำเป็นระยะๆและต้องชดเชยแร่ธาตุกลับเข้าไปด้วย มีแร่ธาตุกว่าสิบชนิดที่ร่างกายต้องการในปริมาณที่ต่างกันไป แต่แร่ธาตุที่สำคัญเอาไว้ให้เราสู้กับความร้อนคือ sodium และ potassium

  • หน้าที่ของ sodium คือ รักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย รักษาความเป็นกรดด่างของเลือดให้คงที่ ดูดซึมสารอาหารเข้าเซลล์ ควบคุมหัวใจให้ทำงานได้ปกติ
  • หน้าที่ของ potassium คือ ควบคุมระบบต่างๆเช่น ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ควบคุมการเต้นของหัวใจ รักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต และกำจัดของเสียในร่างกาย

 

 

ทำอย่างไรเมื่อเป็นตะคริว

เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถไปต่อได้ ต้องหยุดครับ แล้วค่อยๆยืดกล้ามเนื้อมันนั้นที่เป็น แต่ต้องคอยระวังกล้ามเนื้อมัดตรงข้ามกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดตะคริวขึ้นที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า แล้วเรากำลังยืดมัดนั้นโดยการยืนแล้วพับขาไปด้านหลัง เอามือจับเท้าไว้ กล้ามเนื้อขาที่ถูกใช้งานมาอย่างนักจากการปั่นจักรยานไม่ได้มีแค่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าอย่างเดียว มัดตรงข้ามกันที่ทำงานมาหนักพอๆกันก็คือต้นขาด้านหลัง การที่เรายืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า นั้นหมายถึงว่ากล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังจะหดตัวซึ่งอาจจะเกิดตะคริวขึ้นมาในขณะนั้นก็เป็นได้ ดังนั้นการยืดกล้ามเนื้อที่ดีจึงควรยืดอย่างช้าๆ คอยระวังกล้ามเนื้อมัดตรงข้าม และที่สำคัญอีกอย่างหากมีสาเหตุจากการขาดน้ำร่วมด้วย ควรดื่มน้ำที่มีแร่ธาตุเข้าไปด้วยในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรดื่มน้ำทีละมากๆ ให้เป็นการค่อยๆดื่มทีละอึก

พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

8/5/18