ดอยสวนยาหลวง จ.น่าน  16-17/6/61

ดอยสวนยาหลวง จ.น่าน  16-17/6/61

สวนยาหลวง แต่ก่อนเดิมที เคยเป็นสถานที่ปลูกฝิ่นของชาวเขา ในหมู่บ้านสันเจริญ อ.ท่าวังผา จ.น่าน แต่ปัจจุบันได้หันมาปลุกกาแฟกันเป็นอาชีพหลัก จนที่กลายเป็นแหลงปลูกกาแฟที่ขึ้นชื่อของจังหวัดน่าน  สำหรับทริปนี้ผมได้รับคำเชิญชวนมาจากเพื่อนผม กานต์ สิงห์สินธุ์ ซึ่งเป็นไกด์จักรยาน กานต์ได้แนะนำดอยแห่งนี้ และได้เล่าให้ผมฟังถึงความสวยงามและความท้าทายในเส้นทาง คืนวันศุกร์ 15/6/61 เราออกเดินทางโดยรถทัวร์ ขึ้นจากรังสิตเวลาสามทุ่มเศษ ถึงจังหวัดน่านเช้าวันที่ 16/6/61 ลงรถทัวร์ใส่ล้อเช็ครถจักรยานและกินข้าว เจ็ดโมงกว่า เราก็ออกเดินทาง ปั่นจักรยานมุ่งหน้าขึ้นเหนือไปตามทางหลวงหมายเลข 101 จากเมืองน่านมาได้ประมาณ 23 กิโลเมตร กานต์ได้พาผมเข้าไปเที่ยวชมหอศิลป์ริมน่าน ภายในมีการจัดแสดงงานศิลปะต่างๆรวมถึงภาพวาดเก่าๆที่หาดูได้ยาก หอศิลป์แห่งนี้เกิดขึ้นโดยศิลปินพื้นเมืองชาวน่าน ท่านมีชื่อว่า วินัย ปราบริปู เสพงานศิลป์กันเสร็จ ก็มาเสพถนนกันต่อ จากทางหลวงหมายเลข 101 เรามาใช้ทางเลี่ยงถนนใหญ่ผ่านหมูบ้านและทุ่งนา จนมาโผล่ทางหลวงหมายเลข 1148 ทางเข้าไปดอยสวนยาหลวงนั้นต้องสังเกตดีๆเพราะจะอยู่ช่วงทางโค้งช่วงลงเขา เลยหลักกิโลเมตรที่ 15 ไปไม่ไกล ปากเข้ามีโรงเรียนบ้านน้ำโมงปางสา เข้าไปอีก 18 กิโลเมตรจนถึงหมู่บ้านสันเจริญ(มีป้ายบอก) และหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านสุดท้ายก่อนที่เราจะขึ้นดอยสวยยาหลวง รวมระยะที่เราปั่นมาจากน่าน 75 กิโลเมตร เหลืออีกประมาณ 10 กิโลเมตร สู่ยอดดอย กานต์บอกกับผมว่า “ ต่อไปนี้คือของจริง ” เตรียมน้ำดื่มเป็นที่เรียบร้อย บ่ายสามโมงออกเดินทางต่อเพื่อพิชิตยอดดอยสวนยาหลวง จากหมู่บ้านสันเจริญจะเป็นถนนคอนกรีตประมาณ 2 กิโลเมตร ส่วนที่เหลือคือทางดิน ช่วงหน้าฝนแบบนี้ไม่ต้องเดาเลยว่าทางจะเป็นยังไง บอกได้คำเดียวว่าเละ ทางขึ้นเขาสูงชันที่เต็มไปด้วยโคลน ทำให้เราเข็นมากกว่าปั่น ระยะทางแต่ละเมตรกว่าจะผ่านไปได้ช่างยากเย็น ทั้งเหนื่อยทั้งลำบาก กานต์ถึงขนาดต้องพูดออกมาว่า “ ขาไม่มีแรงจะก้าวแล้ว ” บางครั้งผมต้องมาช่วยกานต์เข็นเพื่อให้เราไปได้ต่อ ทางขึ้นเขาที่เหมือนว่าจะไม่มีวันจบสิ้น ไม่ได้ทำให้เราท้อใจ ยังไงเราก็ต้องไปให้ถึงยอดเขาให้ได้ ความสวยงามของวิวทิวทัศระหว่างทางช่วยทำให้เราเพลิดเพลิน เข็นๆขี่ๆกันไปเรื่อยๆจนเหลืออีกประมาณ 2 กิโลเมตรจะถึงยอด ฝนก็ได้ตกลงมา ความหนาวเริ่มเข้ามาสัมผัสผิวกาย แต่ยังดีที่เราเตรียมเสื้อกันฝนมา จึงไม่ได้หนาวเย็นอะไรนัก จากนั้นไม่นานตะวันก็หานลับไปหลังภูเขา แสงของวันเริ่มหายไปความมืดเข้ามาแทน เหลืออีกไม่ไกลก็จะถึงยอดดอย ความมืดทำให้เราสับสนในเส้นทางอยู่บ้าง เพราะบางทีเจอแยกแล้วเราไม่รู้จะไปทางไหน ไฟส่องทางกำลังสูงของผมก็ส่องไปได้ไม่ไกล เพราะมีแต่หมอก ได้แต่เดากับเดาครับ จนแล้วจนรอดเราก็มาถึงศาลาบนเขา ทิ้งสัมภาระและมุ่งหน้าต่อสู่ปลายทางของเรา ซึ่งเหลือระยะทางอีกไม่กี่ร้อยเมตรเท่านั้น เวลาสองทุ่ม การพิชิตยอดดอยสวนยาหลวงได้จบลง เราทำสำเร็จ ปากกัดตีนถีบจนขึ้นมาถึง กานต์ได้พูดขึ้นมาว่า “ จำทริปนี้ไปจนตาย ” ก็แหง่แหละทางลำบากขนาดนี้ต้องจำจนตาย ยอดดอยสวนยาหลวงนั้นเป็นเขตแบ่งระหว่าง ต.ผาทอง อ.ท่าวังผา จ.น่าน กับ ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา มีความสูงประมาณ 1600 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง บนนั้นมีแค่ผมกับกานต์ และเสียงเขียดกับเสียงแมลงที่ร้องกันระงม ถ่ายรูปเสร็จลงกลับมาที่ศาลาเพื่อกางเต็นท์ เรื่องอาบน้ำไม่ต้องพูดถึง บนนี้ไม่มีห้องน้ำ เช้าวันรุ่งขึ้น 17/6/61 ออกมาจากเต็นท์เดินขึ้นไปยอดดอยอีกครั้ง สภาพอากาศบนนั้นปิด ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้ เห็นแค่เพียงทุ่งหญ้ารอบๆเท่านั้น เวลาเจ็ดโมงเก็บของ ออกเดินทางลงจากดอย ปั่นลงมาได้ไม่นาน เราก็ลงมาต่ำกว่าระดับหมอกที่ลอยปกคลุมยอดเขา ทำให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ แจ่มจริงๆครับ หมอกลอยต่ำเลียบๆเคียงๆไปกับภูเขา เราใช้เวลาเป็นชั่วโมงในการขี่ลงเขาและจอดถ่ายรูปบนเส้นทางที่อันตราย แปดโมงครึ่งเราก็ลงมาถึงหมู่บ้านสันเจริญ กินก๋วยเตี๋ยวคนละสองชาม จากนั้นจึงล้างทำความสะอาดให้เสือของเรา แล้วก็ได้เวลาปั่นกลับเข้าเมืองน่าน โดยย้อนเส้นทางเดิม เรามาถึงเมืองน่านตอนเย็นๆ อาบน้ำและมานั่งกินขันโตกหน้าวัดภูมินทร์ ขันโตกนี้จะถูกวางเตรียมไว้บนเสื่ออยู่แล้ว จับจองที่นั่งกันเอาเอง ส่วนอาหารก็มีขายที่ถนนคนเดินข้างวัดภูมินทร์ เวลาหนึ่งทุ่มครึ่งขึ้นรถทัวร์กลับถิ่นฐานพร้อมเก็บความประทับใจกลับมามากมาย

พาย  เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

ปั่นหมอบรอบภูคา จังหวัดน่าน 9-10/6/18

ปั่นหมอบรอบภูคา จังหวัดน่าน 9-10/6/18

        

ทริปนี้ฉุกละหุกมาก ผมโทรหาพี่ป๊อก วิชาญ กลิ่นบัว หรือเฒ่าเทอร์โบ ตอนหกโมงของเย็นวันศุกร์ มีเวลาให้เตรียมตัวไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น จัดสิงของที่จำเป็นยัดลงเป้ สามทุ่มมารอรถทัวร์ ระหว่างที่รอผมก็อธิบายถึงเส้นทางที่เราจะปั่น ซึ่งผมเองเพิ่งจะวางแผนกันสดๆร้อนๆเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา เส้นทางที่วางไว้สองวัน คือ วันแรก น่าน – อ.สันติสุข – อ.บ่อเกลือ – อ.เฉลิมพระเกียรติ – ชายแดนห้วยโก๋น วันที่สอง อ.เฉลิมพระเกียรติ – อ.ปัว – น่าน  เช้าวันที่9/6/18 เวลา 6:45น. รถทัวร์ได้มาถึงจังหวัดน่าน เราเอาจักรานลงมาจากใต้ทองใส่ล้อและนั่งกินข้าวกล่องอยู่ที่ บขส.น่าน ข้าวกล่องแค่นั้นให้พลังงานนิดเดียว เราต้องต่อด้วยข้าวหลาม ป่าแม่ค้าข้าวหลามถามเราว่า “ จะปั่นไปไหนกัน ” ผมตอบไปว่า “ ไปห้วยโก๋น ทางบ่อเกลือ ” ป่าตอบกลับมาว่า “ ป่าเคยไป ครั้งเดียวพอ อ๊วกแตกกลางทาง ” นั้นผมถือว่าเป็นคำเชิญก็แล้วกัน กว่าจะกินอะไรเสร็จแต่งตัวเสร็จก็ปาเข้าไปเกือบแปดโมง ถึงจะได้ออกเดินทาง ออกจากเมืองน่าน พอเราพ้นเขตเมืองก็ลาแล้วซึ่งทางราบ จากนี้ไปจะมีแต่เขา เราใช้ทางหลวงหมายเลข 1169 และต่อด้วย 1081 มุ่งหน้าสู่อำเภอสันติสุข เวลาเก้าโมงกว่าเรามาถึง อำเภอสันติสุข มีป้ายบอก อุทยานแห่งชาติขุนน่าน 65 กิโลเมตร  เราปั่นกันต่อไปตามทางหลวงหมายเลข 1081 ตามเดิม สิ่งที่รอเราอยู่นั้นคือภูเขาสูงและถนนลอยฟ้า ผมเคยผ่านมาครั้งหนึ่งแล้วตอนนั้นออกมาจากบ่อเกลือ ผมจึงรู้ดีถึงความชันและมีภูเขาหลายลูกที่เราต้องเจอ เราปั่นกันไปแบบเก็บแรงไม่ได้อัดขึ้นเนินเพราะรู้ดีว่าทางอีกไกล ความชันของเส้นทางนี้ก็สมคำร่ำลือ ถึงทางจะโหดแค่ไหน แต่วิวข้างทางก็ทำให้เราเพลิดเพลิน จนไม่ใส่ใจความเหนื่อย มองไปบนท้องฟ้าเห็นเมฆดำลอยต่ำเป็นสัญญาณว่าฝนกำลังจะมา เวลาบ่ายโมงกว่าเรามาถึงอำเภอบ่อเกลือ ที่นี่มีบ่อที่ใช้ตักน้ำขึ้นมาทำเกลือ หรือที่เรียกว่าบ่อเกลือนั้นแหละ ชมบ่อเกลือและนั่งพักสักเดี๋ยวเราก็เดินทางต่อ นี่เพิ่งผ่านไปครึ่งแรก ครึ่งหลังเป็นยังไงนั้นตอบไม่ได้ ออกจากบ่อเกลือมาสักพัก ก็ได้เจอกับฝันร้ายของเสือหมอบ นั้นคือ ทำถนน ดินบดอัดกับยาง 700 X 23 มันช่างไม่เหมาะสมกันเลย แต่เท่านั้นยังไม่พอ นอกจากทางดินที่ลาดชันแล้ว ยังมีฝนโปรยปรายลงมา ช่วยเพิ่มความยากขึ้นไปอีก พ้นทางดินก็มาเจอทางหินอีก สั่นกันจนมือแทบจะหลุดออกจากแฮนด์ สภาพทางแบบนั้นมันทำให้พี่ป๊อกพูดขึ้มาว่า “ เจ็บมือ ไปหมด ” ผมก็บอกพี่ป๊อกว่า “ เหมือนกัน ” บางครั้งผมยังแอบเผลอคิดว่าลืมเปิดโช๊ค แต่ อ้าวเฮ้ย!!! นี่มันเสือหมอบนะ ไม่ใช่เสือภูเขา ปั่นกันต่อมากับทางที่เรียกว่าขึ้นสุดลงสุด เล่นเอาล้า เหลือระยะทางอีกประมาณสามสิบกิโลเมตร ตอนนั้นก็หกโมงกว่าแล้ว ระยะทางแค่นี้มันไม่ไกลนะ แต่เราไม่รู้ว่าต้องเจอกับอะไรอีก ปั่นกันต่อมาจนมืดสนิท เหลืออีกกว่ายี่สิบกิโลเมตร ความมืดทำให้เราเห็นหิ่งห้อยที่คอยส่องแสงอวดกันอยู่เต็มไปหมด แต่จะเพลิดเพลินกับหิ่งห้อยเหล่านี้ไม่ได้ เพราะสภาพเส้นทางที่พังไม่ถึงกับยับเยิน แต่ก็มีเศษหินอยู่เต็มไปหมด ทำให้เราต้องใช้สมาธิกับเส้นทางเป็นอย่างมาก มือที่ปวดทำให้ควบคุมรถได้ยากขึ้น เวลาสามทุ่มเรามาถึงชายแดนห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ ระยะทาง 167 กิโลเมตร เป็นที่สำเร็จ อำเภอเล็กๆแห่งนี้ในยามวิกาลไม่มีร้านอาหารเปิดอยู่เลย มีแต่ร้านสะดวกซื้อเปิดอยู่ร้านหนึ่ง เราจึงได้พอยาไส่ สำหรับที่พักคืนนี้เป็นรีสอร์ทเล็กๆคืนละ500บาท อยู่ใกล้ๆโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ เจ้าของรีสอร์ทให้เราใช้เครื่องซักผ้า ซักเสื้อผ้าอันแสนสกปรก มีทั้งเหงื่อไคลและดินทรายที่ติดเรามา คืนนั้นกว่าจะได้นอนเกือบเที่ยงคืน เช้าวันที่10/6/18 เวลา 5:00น. เสียงปลุกดังขึ้น นอนบิดไปบิดมาอยู่สักพักเพื่อคลายความเมื่อยล้าจากเมื่อวาน เก็บของแต่งตัวออกเดินทางตอนหกโมง สำหรับวันนี้เราจะปั่นกลับเข้าเมืองน่าน โดยไม่ย้อนทางเดิม เส้นทางที่ใช้คือทางหลวงหมายเลข 101 เช้าๆแบบนี้ร้านข้าวก็ยังไม่เปิด ปั่นท้องว่างๆขึ้นเขายาวๆจนมาถึงอำเภอทุ่งช้างจึงมีร้านข้าวขาย กินเสร็จออกปั่นต่อ วันนี้ทางไม่โหดร้ายอะไรมาก ปั่นขึ้นๆลงๆเนิน เล็กบ้างใหญ่บ้างสลับกันไป และลุยฝนกันช่วงเที่ยงไปจนถึงบ่ายๆ แล้วเราก็มาถึงจังหวัดน่าน เวลาบ่ายสองโมงครึ่ง ในสภาพเปียกทั้งตัว ระยะทางวันนี้ 138 กิโลเมตร แล้วเราก็ปั่นรอบภูคาได้สำเร็จเป็นเส้นทางที่สวยงามมีครบทุกอย่างยกเว้นทางราบ ขากลับเราขึ้นรถทัวร์กลับในคืนวันนั้น

เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

 

ตะคริว

ตะคริว

ตะคริว (Muscle Cramp) คือ การหดเกร็งตัวเป็นก้อนของกล้ามเนื้ออย่างกะทันหันแล้วไม่คลายตัวออก ทำให้รู้สึกเจ็บปวด จนไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อมัดที่เป็นตะคริวได้ มักจะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อที่ใช้งานหนักเป็นเวลานานหรืออาจจะแค่ไม่กี่นาทีก็เป็นได้ นักปั่นอย่างเราโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อขา ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง กล้ามเนื้อต้นขาข้างเข่าด้านใน

ออกกำลังกายหนักๆทำไม่ถึงเป็นตะคริว

ปวด ตึง เมื่อย กล้ามเนื้อนั้นคือสัญญาณที่บอกว่าร่างกายไม่สามารถจัดการกับของเสีย ที่เกิดจากขบวนการการเผาผลาญที่ไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic metabolism) ของเสียที่ว่านี้คือกรดแลคติก เจ้ากรดนี้จะทำให้กล้ามเนื้อล้า ถ้ายังฝืนทนต่อไปจะเป็นตะคริวได้ ดังนั้นถ้าต้องการไปต่อควรลดความเข้มข้นของกิจกรรมนั้นลง เช่น ปั่นให้ช้าลง วิ่งให้ช้าลง ไม่ควรหยุดในทันทีเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งไม่คลายตัว เมื่อลดความเข้มข้นของกิจกรรมลงสักพัก กรดแลคติก จะถูกเผาผลาญเป็นพลังงานจากขบวนการการเผาผลาญที่ใช้ออกซิเจน (aerobic metabolism) และอาการ ปวด ตึง เมื่อย กล้ามเนื้อ จะลดลงไปเอง

 

 

อากาศร้อนกับการเป็นตะคริว

แสงแดดแผดเผาท่ามกลางอุณหภูมิร้อนระอุ เป็นสภาพแบบนี้ร่างกายต้องทำงานหนักกับการระบายความร้อน เพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายไม่ให้ร้อนเกินไป สิ่งหนึ่งที่ร่างกายทำได้คือ การขับเหงื่อ สังเกตมั้ยว่าเหงื่อของเราจะมีความเค็มและเป็นกรด เมื่อเข้าตาก็จะแสบตา หรือถ้าเหงื่อหยดลงบนตัวถังจักรยานก็สามารถกัดสีเสียหายได้ นั้นเป็นเพราะเหงื่อไม่ได้มีแต่น้ำที่ออกมา แต่มีแร่ธาตุออกมาด้วย และเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำและแร่ธาตุ ไม่นานตะคริวจะถามหา วิธีป้องกันคือดื่มน้ำเป็นระยะๆและต้องชดเชยแร่ธาตุกลับเข้าไปด้วย มีแร่ธาตุกว่าสิบชนิดที่ร่างกายต้องการในปริมาณที่ต่างกันไป แต่แร่ธาตุที่สำคัญเอาไว้ให้เราสู้กับความร้อนคือ sodium และ potassium

  • หน้าที่ของ sodium คือ รักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย รักษาความเป็นกรดด่างของเลือดให้คงที่ ดูดซึมสารอาหารเข้าเซลล์ ควบคุมหัวใจให้ทำงานได้ปกติ
  • หน้าที่ของ potassium คือ ควบคุมระบบต่างๆเช่น ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ควบคุมการเต้นของหัวใจ รักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต และกำจัดของเสียในร่างกาย

 

 

ทำอย่างไรเมื่อเป็นตะคริว

เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถไปต่อได้ ต้องหยุดครับ แล้วค่อยๆยืดกล้ามเนื้อมันนั้นที่เป็น แต่ต้องคอยระวังกล้ามเนื้อมัดตรงข้ามกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดตะคริวขึ้นที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า แล้วเรากำลังยืดมัดนั้นโดยการยืนแล้วพับขาไปด้านหลัง เอามือจับเท้าไว้ กล้ามเนื้อขาที่ถูกใช้งานมาอย่างนักจากการปั่นจักรยานไม่ได้มีแค่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าอย่างเดียว มัดตรงข้ามกันที่ทำงานมาหนักพอๆกันก็คือต้นขาด้านหลัง การที่เรายืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า นั้นหมายถึงว่ากล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังจะหดตัวซึ่งอาจจะเกิดตะคริวขึ้นมาในขณะนั้นก็เป็นได้ ดังนั้นการยืดกล้ามเนื้อที่ดีจึงควรยืดอย่างช้าๆ คอยระวังกล้ามเนื้อมัดตรงข้าม และที่สำคัญอีกอย่างหากมีสาเหตุจากการขาดน้ำร่วมด้วย ควรดื่มน้ำที่มีแร่ธาตุเข้าไปด้วยในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรดื่มน้ำทีละมากๆ ให้เป็นการค่อยๆดื่มทีละอึก

พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

8/5/18

ระยะติดแม่เหล็กไมล์จักรยานมีผลทำให้ไมล์เพี้ยนหรือไม่

ระยะติดแม่เหล็กไมล์จักรยานมีผลทำให้ไมล์เพี้ยนหรือไม่

หลายท่านคงสงสัยว่าแม่เหล็กสำหรับเซ็นเซอร์ไมล์วัดความเร็วถ้าเราติดไกลจากดุมหรือติดใกล้ดุม จะมีผลทำให้ความเร็วที่แสดงบนหน้าจอของเราแตกต่างกันหรือไม่ ในคู่มือก็ไม่ได้กำหนดระยะห่างแม่เหล็กจากดุม มีเพียงกำหนดระยะห่างระหว่าแม่เหล็กกับเซ็นเซอร์ เพื่อไม่ให้ไกลหรือใกล้จนเกินไป ก่อนที่จะสรุปว่ามีผลหรือไม่เราลองมาอ่านบทความต่อไปนี้กันก่อนดีกว่า

 

หลักการทำงานของไมล์จักรยาน

Bicycle Computers หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่าไมล์จักรยาน แบบพื้นฐานโดยทั่วไปที่ไม่มีGPSจะวัดความเร็วจากเซ็นเซอร์ เจ้าเซ็นเซอร์นี้จะส่งสัญญาณทางสายหรือไร้สาย ขึ้นไปหาหน้าจอ โดยใช้การเหนี่ยวนำจากแม่เหล็กที่ติดซี่ลวด ส่งผลทำให้สวิทช์แม่เหล็กทำงาน แล้วส่งสัญญาณขึ้นไปให้หน้าจอคำนวณ โดยจะคำนวณจากเส้นรอบวงของยางกับช่วงเวลาระหว่างการส่งสัญญาณแต่ละครั้งว่าห่างกันแค่ไหนหรือนับรอบนั้นเอง สิ่งที่หน้าจอแสดงให้เห็นคือความเร็ว และจะใช้ความเร็วนี้คำนวณกับตัวแปรอื่นออกมาเป็น ความเร็วเฉลี่ย ระยะทาง เป็นต้น  มาพูดถึงกฎของการหมุนนิดนึงนะครับ กฎนี้มีอยู่ว่า ทุกจุดใดๆบนวงกลมจะมีความเร็วเชิงมุมเท่ากัน นั้นหมายความว่าไม่ว่าจุดนั้นจะไกลหรือใกล้จากจุดหมุนก็จะมีความเร็วเชิงมุมเท่ากัน และความเร็วเชิงมุมนี้อีกนัยหนึ่งก็คือความเร็วรอบนั้นเอง

สรุปได้ว่า ไม่ว่าเราจะติดแม่เหล็กไกลจากดุมหรือใกล้ดุม ก็ไม่มีผลทำให้ความเร็วเพี้ยน ดังนั้นจึงควรติดเซ็นเซอร์ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยให้ระยะห่างระหว่างแม่เหล็กกับเซ็นเซอร์อยู่ในระยะตามที่คู่มือกำหนด สำหรับตะเกียบเสือหมอบรูปทรงaeroอาจจะต้องหันเซ็นเซอร์ออกมาด้านหน้านะครับ และขอแนะนำอีกอย่างควรติดเซ็นเซอร์ไว้ที่ตะเกียบข้างขวาเพราะเวลาเรานอนรถจักรยานเราจะเอาข้างซ้ายลง สำหรับเซ็นเซอร์ที่วัดล้อหลัง ต้องติดเซ็นเซอร์ไว้ที่chainstayข้างซ้าย ผมเคยลองติดเซ็นเซอร์ไว้ที่chainstayข้างขวาแล้ว ปรากฏว่าแม่เหล็กดูดโว่ทำให้โซ่ตกเลยครับ

พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

2/5/18

รังสิต-ยอดภูเรือ 465.3km 17/3/18

รังสิต-ยอดภูเรือ 465.3km 17/3/18

รังสิต-ยอดภูเรือ 465.3km 17/3/16

Jasmine return อะไหล่เก่าๆที่มีอยู่บวกกับใหม่บางชิ้นเอามาประกอบกับเฟรมRidleyอายุกว่าสิบปี คันนี้ตั้งชื่อว่า มะลิซ้อน ชุดเกียร์ 50/34 11-23 ล้อขอบสูง60mm น้ำหนักตัวเจ็ดปลายๆ รถพร้อมประกอบเสร็จต้องเอาไปลอง เส้นทางที่ผมเลือกคือรังสิต-ภูเรือ 

เช้าวันเสาร์ที่ 17/3/16 ออกเดินทางจากรังสิต3:57น. ปั่นไปตามถนนพหลโยธิน ช่วงตั้งแต่รังสิตไปจนถึงสระบุรีสภาพผิวทางแย่มาก มีหลุมเต็มไปหมด และยังต้องคอยระวังรถย้อยสอนอีกด้วย ไม่รู้จะไปโทษใคร อยู่ไทยทำใจให้ชิน พอมาถึงช่วงวังน้อย รถตกหลุมแรงมากและผมได้ยินเสียงเหมือนเหยียบอะไรสักอย่าง ตอนแรกนึกว่ายางแตก แต่ก็ไม่ใช่ ผมคลำเช็คของในกระเป๋าเสื้อด้านหลัง ของทุกอย่างอยู่ครบ “ ช่างเถอะปั่นได้ก็ไปต่อ ” จนมาถึงสระบุรี เริ่มสว่าง จึงได้มองสำรวจรถตัวเอง และได้พบว่าสูบลมได้หล่นหายไปแล้ว เสียงที่ได้ยินตอนนั้นคืนเสียงสูบลมหล่นนั้นเอง นี่ก็เลยจุดตกมาไกลแล้ว ผมจึงไม่ย้อนกลับไป เวลา6:59น.ถึงแยกพุแค จังหวัดลพบุรี ซึ่งผมใช้เวลาช้ากว่าทริปที่ปั่นไปภูทับเบิกปลายเดือนมกราคมถึง6นาที ทั้งๆที่ครั้งนี้ใช้ล้อขอบสูง60mm ซึ่งคราวนั้นใช้ขอบต่ำ นี่แสดงว่าลมวันนี้แรงกว่าครั้งนั้น ที่แยกพุแคนี่เป็นจุดเริ่มต้นของทางหลวงหมายเลข21
ผมต้องใช้เจ้าหมายเลข21จากนี้ไปจนถึงทางแยกขึ้นยอดภูเรือ ปั่นต่อมาได้อีกสักพักอาการบาดเจ็บก็มาเยือน กล้ามเนื้อขาขวาด้านหลังตั้งแต่ต้นขาข้อพับจนไปถึงน่อง รวมถึงกล้ามเนื้อหลังแขน เริ่มมีอาการเจ็บ เพิ่งปั่นมาได้แค่20%ของเส้นทางเหลืออีกสามร้อยกว่าโลที่จะเป็นเนินและเขา อีกทั้งยังมีลมพัดลงมา ดูแล้วอาจจะไม่จบ ตอนนั้นคิดในใจว่า “ ยางแตกให้จบๆไปไหนๆสูบลมก็ไม่อยู่แล้ว ” เวลา7:18น.มาถึง ช่องเขาขาด แทบแคบๆสองช่องจราจรไม่มีไหล่ทาง ผมไม่สามารถอัดขึ้นไปได้ ต้องขึ้นไปอย่างช้าๆเพื่อไม่ให้อาการเจ็บที่เป็น มันหนักกว่าเดิม พี่ใหญ่ประจำถนนน่ารักมากแซงขึ้นไปอย่างห่างๆ ผมคิดในใจ “ ถ้ากูพร้อมกว่านี้นะ ดวลกันแล้ว ”
ผ่านจากช่องเขาขาดมาได้ก็จะเป็นเนินๆไปตลอด ผมมาแวะเติมน้ำที่ร้านค้าข้างที่ด้วยระยะทางจากบ้าน129km สภาพอากาศที่ร้อนน้ำสองกระติกใบละ750ccจึงมาได้เท่านี้ ระหว่างที่แวะนั้นผมได้เปิดgoogle mapsดูระยะทางที่เหลือ อีก337km ลองคำนวณเล่น ( ความเจ็บ + แดด + ลม + เนิน + เขา ) X 377 = หนังชีวิต ปั่นต่อมาจนถึงแยกพัฒนานิคม ตรงนี้ติดไฟแดงนาน มองข้างทางมีร้านซ้อมรถยนต์ ยืมเครื่องมือปรับเบาะดีกว่า จากอาการเจ็บที่เป็นกับกล้ามเนื้อหลังแขน ผมสรุปได้ว่า มุมเบาะไม่ถูกต้องจึงทำให้เจ็บส่วนอื่นไปได้ ปรับแก้ไขให้หน้าเบาะเชิดขึ้นเล็กน้อย ก็เรียบร้อย เอาล่ะไปต่อได้ ไมนานอาการเจ็บต่างๆก็ทุเลาลง เวลา 10:30น. เข้าเขตจังหวัด                                                                                    เพชรบูรณ์ ซึ่งช้ากว่าทริปที่ปั่นไปภูทับเบิกปลายเดือน                                                                                        มกราคมถึง32นาที เวลาทบไปเรื่อย
อากาศที่ร้อนมากทะลุ40องศา ทำให้ต้องจอดเติมน้ำบ่อย สองกระติกไปได้ไม่ถึง60km เวลา15:32น. เพชรบูรณ์ ปั่นต่อมาอีกสักพัก เจอกำลังทำถนน ลอกผิวหน้า เทน้ำยางเหนี่ยวๆ ยังดีที่ทำระยะสั้นๆเท่านั้น เวลา 16:43น. มาแวะปั๊มเดิมตอนทริปภูทับเบิกปลายเดือนมกราคม44นาที เดิมน้ำเสร็จล้างหน้าล้างตา เอาสายยางฉีดตัวคลายความร้อนแล้วไปต่อ มุ่งหน้าผ่านอำเภอหล่มสัก ปั่นต่อมาเรื่อยๆ อากาศเริ่มไม่ร้อน ปั่นได้สบายขึ้นความเจ็บก็หายไปเยอะแล้ว เหลือแค่พอตึงๆให้รู้ว่าเคยเจ็บ
เวลาจวนจะหกโมงเย็น มองทางขวามือคือภูทับเบิก พระอาทิตย์กำลังจะหายไปหลังเขาลูกนั้น “ ไปสักทีเถอะทำร้อนมาทั้งวันแล้ว ” เวลา18:31น. เข้าเขตจังหวัดเลย ที่อำเภอด่านซ้าย
แสงของวันจางหายไปทีละนิด จนมืดสนิท อากาศเย็นสบายหนาวนิดๆ ถือว่าปั่นสบาย นับเจลที่เหลืออยู่กับระยะทาง พอครับ เส้นทางที่เปลี่ยวและมืดมักจะมีหมา และหมากับจักรยานก็เป็นไม้เบื่อไม้เมา ผมต้องระวังหมาที่วิ่งออกมาไล่ ความมืดทำให้ไม่เห็นตัวมันแต่มันเห็นเรา นั้นคือข้อเสียเปรียบ
ปั่นหนีหมาฝ่าความมืดจนมาถึงทางขึ้นยอดภูเรือที่อยู่ทางซ้าย ตอนนั้นเวลา22:05น. ป้ายทางเข้าเขียนว่า 9km ปั่นเข้าไปประมาณ1km มาเจอกับด่านของเจ้าหน้าที่ตรงที่กั้นเขียนว่าปิด20:00น.
ผมขอเจ้าหน้าที่เข้าไปบอกว่า “ ผมปั่นมาจากรังสิต ขอขึ้นไปหน่อย ” เจ้าหน้าที่บอกว่า “ ทางชันมากนะมืดด้วย ” แล้วก็ให้ผมขึ้นไป ความมืดทำให้ไม่เห็นความชัน นั้นเป็นผลดีเพราะด้วยเฟือง23ถ้าเห็นความชันอาจจะถอดใจได้ ระยะทางขึ้นจากด่าน8km แทบไม่มีช่วงพักขา กว่าจะผ่านมาได้ใช้เวลาร่วมๆชั่วโมง เวลา23:19น. ผมได้ขึ้นมาถึงยอดภูเรือที่ความสูง1356เมตรได้สำเร็จ
                                                                                                                  พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

ฝ่าลมฝน จากรังสิตสู่ภูทับเบิก 27/1/18

ฝ่าลมฝน จากรังสิตสู่ภูทับเบิก 27/1/18 388.4km

 

    ผมออกจากรังสิตเวลา3:58น.(จับเวลาหน้าโรงพยาบาลปทุมเวช)ปั่นไปตามถนนพหลโยธิน ผ่านเมืองสระบุรีเวลา6:54น.ถึงแยกพุแค แต่ทางตรงไปเพชรบูรณ์นั้นปิดผมต้องไปทางซ้ายอีก500เมตร เพี่อกลับรถลับรถจากนั้นเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข21

เวลา7:11น.ถึงช่องเขาขาด ท้องฟ้าวันนั้นเป็นสีเทา ฝนคงตกแน่ ผมมาจอดซื้อน้ำจุดแรกที่แยกม่วงค่อม จังหวัดลพบุรี เติมน้ำเสร็จออกเดินทางต่อ แล้วสักพักฝนก็ได้โปรยลงมา รถที่ล้างมาหมดความหมาย เวลา9:59น. เข้าเขตอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ฝนตกยังตกลงอย่างต่อเนื่องและหนักขึ้น ตอนนี้เปียกไปทั้งตัวแล้ว โซ่ส่งเสียงดังครวญครางออกมาตอน ตกอยู่พักใหญ่ ฝนจึงหยุดลง ทิ้งไว้เพียงถนนเปียกๆที่มีแอ่งน้ำขังเต็มไปหมด ผมยังคงปั่นต่อไปอย่างไม่ลดกำลัง เวลา11:10น. ผ่านทางแยกเข้าอำเภอวิเชียรบุรี ผมมาหยุดเดิมน้ำครั้ที่สองที่ พึงสามพัน ล้างหน้าล้างตาเอาทรายออกสักหน่อย จากนั้นเดินทางต่อ ประมาณบ่ายโมงฝนได้ตกลงมาอีกรอบ คราวนี้ตกหนักเลยครับ แต่ยังไงก็ต้องลุยต่อ เวลา14:39น. ผ่านเมืองเพชรบูรณ์ เวลา16:00น. แวะเติมน้ำครั้งที่สามก่อนถึงแยกที่ทางหลวงหมายเลข12มาตัด ซึ้งครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่ผมจะจอดเพราะเหลือระยะทางอีกประมาณ40kmก็จะถึงยอดภูทับเบิก เตรียมน้ำและจัดเจงเจลพลังงานให้พร้อมอีกครั้งเพราะช่วงขึ้นเขามือไม้เราจะปล่อยออกมาหยิบจับอะไรลำบาก จากนั้นก็ไปต่อเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข12 ปั่นมาอีกสักพักจนเจอสี่แยก ผมเลี้ยวขวาไปตามทางหลวง2372 เวลา16:55น.ถึงทางแยกขึ้นภูทับเบิก ทางหลวงหมายเลข2331 ผมเลี่ยวซ้ายมุ่งหน้าขึ้นเขา นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ปั่นขึ้นภูทับเบิกตอนมีแสงสว่างครั้งก่อนหน้านั้นมาถึงตรงนี้ก็มืดแล้ว วันนี้มาด้วยเฟือง12-28กับจานหน้า50/34ผมคิดในใจว่า “ด้วยเฟือง28คงไม่มีปัญหาอะไรกับเขาลูกนี้ เพราะเคยเอา25ขึ้นมาแล้ว” ขี่ขึ้นไปได้สักพักทางเริ่มชันขึ้นและมองเห็นถึงทางข้างหน้าที่รออยู่ ตึงขาสุดๆกดแทบไม่ลง “จะขอยืนยันยืนยัน……” เรียกได้ว่าแทบไม่ได้นั่ง ผมคิดในใจว่าครั้งก่อนนั้นถ้ามองเห็นทางด้วยเฟือง25คงจะขึ้นไม่ไหวแน่55555 เอาล่ะสู้หน่อยอีกไม่ไกลแล้ว

เหลือระยะทางอีกประมาณ5km ผมรู้สึกว่ายางหลังแบน ” เชี่ยเอ้ย!! ” ตอนนั้นผมตัดสินใจลุยต่อไม่อยากเอาเท้าแตะพื้น ฝืนบดยางต่อไป ผิวทางก็ลื่นมากเพราะถนนได้เปียกฝนยางก็แบน ผมไปต่อไม่ได้แล้วต้องจอด จากระยะทางที่เหลืออีกไม่ไกล ผมต้องตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนยางหรือแค่สูบลมแล้วไปต่อ ผมตัดสินอย่างรวดสูบลมแล้วไปต่อดีกว่า เพราะมันค่อยๆซึมออกถ้าผมเติมกลับไปให้แน่น ก็จะมีเวลาพอจนถึงยอด และอีกอย่างตอนนั้นก็มืดแล้วถ้ามีหนามคาที่ยางนอกอยู่ก็ใช่ว่าจะมองเห็นได้ง่ายๆ ผมสูบลมอย่างเร่งรีบ แต่สูบเท่าไหรก็ไม่แข็งสักที ผมรู้เลยเป็นเพราะสุบลมมีน้ำเข้าไปจากฝนที่ตกหนัก สูบนานไปกว่านี้ก็ไม่ได้แข็งขึ้น ผมบีบยางดูมันนิ่มมาก อย่าเสียเวลาสูบต่อเลย “เอาวะ! ไปมันแบบแบนๆนี่แหละเอาแรงเข้าสู่” เวลา19:11น. มาถึงทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าด่านของอุทยานภูหินร่องกล้าเลี้ยวขวายอดภูทับเบิก ผมเลี้ยวขวาและไปให้เร็วที่สุดเพราะทุกนาทีที่เสียไปนั้นคือลมยางที่ลดลง แต่ทางช่วงนั้นก็ไม่ค่อยดีนักถ้าไปเร็วมากยางหลังที่อ่อนก็จะโดนกระแทกแตกได้ มาถึงช่วงสุดท้ายเนินหักขวาขึ้นยอด มีนักท่องเที่ยวเดินเต็มไปหมด ผมอยากจะตะโกนบอก “หลบหน่อยโว้ย…ยางกูจะหมดลมแล้ว” แต่ผมใช้เสียงหายใจที่แรงเป็นการเปิดทาง เสียงหายใจแรงๆจากการเร่งอัดขึ้นเขาดอกสุดท้ายได้ผล ผมไม่เสียจังหวะเลย เวลา19:24น. ผมก็พิชิตภูทับเบิกยอดเขาที่สูงที่สุดในเพชรบูรณ์ ได้สำเร็จ จากรังสิตด้วยเวลารวม15:26ชั่วโมง เวลาปั่น14:09ชั่วโมง

พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

เขาพระยาเดินธง เขื่อนป่าสัก 355km 1/10/17

เขาพระยาเดินธง เขื่อนป่าสัก 355km 1/10/17

เขาพระยาเดินธง เป็นเขาภูเขาที่อยู่ทางทิศตะวันตกของเขื่อนป่าสัก ผมเคยมาที่นี่เมื่อประมาณ12ปีที่แล้ว ตอนนั้นรู้สึกว่าเขาลูกนี้มันขึ้นยากเย็นเหลือเกิน ทางมีแต่หินอากาศก็ร้อน เข็นแล้วเข็นอีก เวลาผ่านไปหลายปีคิดไว้ว่าจะกลับไปอีกครั้ง และแล้วก็ได้กลับไปอีกครั้ง ทริปนี้ผมมีพี่ป๊อก เฒ่าเทอร์โบร่วมทางไปด้วย ผมไม่รู้ว่าทางขึ้นเขาพระยาเดินธงยังเป็นเหมือนเดิมมั้ย จึงตัดสินใจใช้เสือภูเขา ผมเริ่มปั่นออกเดินทางจากรังสิตเวลาหกโมงเช้า นัดเจอกับพี่ป๊อกที่mcdonaldsคลองสาม เราใช้เส้นทางรังสิต-องครักษ์-บ้านนา-แก่งคอย เราแวะพักจุดแรกเติมน้ำแถวๆแก่งคอย
สิบเอ็ดโมงเศษมาถึงแสลงพัน เส้นทางที่ผ่านมานี้คุ้นเคยจำได้ทุกเนิน ที่แยกแสลงพันเลี้ยวซ้ายผ่านไร่องุ่นปภัสรา มาถึงวังม่วงเราแวะพักเดิมน้ำและดูแผนที่ จากนั้นก็ปั่นมาต่อมาถึงตำบลมะนาวหวาน พอมาถึงจุดนี้google mapเริ่มพางง เข้าไร่บ้าง หลงบ้าง หมาไล่บ้าง
สุดท้ายก็ทางอยู่ที่ปาก ถามชาวบ้านดีกว่า ป้าที่ถามเขาบอกว่าเลยวัดยักษ์แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปเลย เราไปตามที่เขาบอกผ่านวัดยักษ์ เจอป้ายอยู่ทางขวามือเขียนว่า วัดเขาพระยาธง งงกับป้ายเหมือนกันคำว่าเดินหาย แต่ทิศทางก็ตรงไปหาเขาที่มองเห็นอยู่แล้วจึงคิดว่าน่าจะใช้ ทางดินสะเทือนไส้เข้าไป3km พาเราไปถึงสถานปฏิบัติธรรมวัดเขาพระยาธง ผมถามคนในนั้นว่า ” ทางขึ้นเขาลูกนี้อยู่ที่ไหนครับ ” เขาตอบมาว่า “ไม่รู้ครับเพิ่มมาอยู่ได้สองวัน” ผมเลยไปถามพระ เพราะพระไม่โกหก555 พระท่านบอกว่าต้องไปอีก เราไปกันต่อ ผมบอกพี่ป๊อกว่า “โดนป้าหลอกแล้ว555” แล้วก็มาถึงทางขึ้นมีป้ายเขียนไว้ชัดเจนว่า เขาพระยาเดินธง ไม่ผิดแน่บรรยากาศพอจำได้ แต่ตอนนี้ถนนลาดยางแล้ว
ปั่นต่อจนมาถึงตีนเขา ผมบอกพี่ป๊อกว่า “ทางน่าจะลาดยางจนไปถึงยอดเขา คราวหน้าเอาเสือหมอบมาดีกว่า” แต่พอถึงทางขึ้นเขา เส้นทางยังเป็นหินอยู่ เราไม่ได้ลดแรงดันลมยางเพราะลืมเอาสูบลมมา
ความชันอย่างต่อเนื้องประมาณ8-13%ระยะทางประมาณ5-6km อุณหภูมิประมาณ 34-35 องศาเซลเซียส ก็ไม่ได้ถือว่าร้อนมาก แต่เป็นวันที่อากาศอบอ้าวสุดๆ เวลาบ่ายสองโมงสี่สิบขึ้นมาถึงยอดเขาที่ความสูงประมาณ490เมตร    
น้ำหมดพอดีบนนั้นมีที่พักพระสงฆ์ มีน้ำให้เติมและมีมะนาววางอยู่ จึงเอามาฝานหั่นกินพอได้ชุ่มคอ พักชมวิวคุยกับพระอยู่สักพักจึงลงจากเขา ทางที่มีแต่หินขาลงต้องระวังเป็นพิเศษ ก่อนกลับมาแวะเขื่อนป่าสัก ถ่ายรูปชมวิวแวะพัก ประมาณห้าโมง เดินทางกลับ จากเขื่อนป่าสักเราปั่นตรงออกมาจนถึง ถนนสระบุรี-หล่มสัก ปั่นจนมาถึงสระบุรีแวะพักอีกครั้ง เหลืออีก74kmถึงรังสิตเราปั่นยาวมาเลยไม่ได้แวะไหน เวลาประมาณสี่ทุ่มกลับมาถึงบ้าน รวมระยะทาง355กิโลเมตร
 
                                                                                                        พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

รังสิต-ดอยสุเทพ 677 km 23ชั่วโมง24นาที 4/12/16 3:00 น. – 5/12/16 2:24 น.

รังสิต-ดอยสุเทพ 677 km 23ชั่วโมง24นาที
4/12/16 3:00 น. – 5/12/16 2:24 น.
ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผชาติล้วนงามตา นามล้ำค่านครพิงค์ นี่คือคำขวัญประจำจังหวัดเชียงใหม่ นักปั่นหลายคนคงอยากปั่นจักรยานไปเชียงใหม่ ผมเองก็เคยปั่นจากบ้านที่รังสิตไปเชียงใหม่มาหลายครั้งแล้ว ทุกครั้งจะใช้เวลาไม่เกินสองวัน แต่นั้นมันก็ไม่ท้าทายอีกต่อไปแล้ว ผมต้องปั่นให้ถึงในวันเดียว คำขวัญของจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นต้นด้วย ดอยสุเทพ ทริปรังสิต-ดอยสุเทพจึงเกิดขึ้น

ทริปมีนักปั่นทั้งหมดสามคน พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย บัส ณัฐวุฒ สิริจิตตานนท์ พี่ป๊อก วิชาญ กลิ่นบัว และมีรถserviceอีกหนึ่งคัน โดยมี พี่นุ อนุชิต ชุ้นสามพราน พี่หนึ่ง ศศิพร ชุ้มสามพราน พี่เอ ยุทธนา หงส์ดิลกกุล คอยดูแล เช้าวันที่ 4 ธันวาคม 2559 เวลา 3:00 น. ออกเดินทางจากปั๊มเชลที่รังสิต(เลยโลตัสมานิดนึง) เราปั่นไปตามถนนพหลโยธิน เป็นวันที่ลมแรงมาก พอไปถึงสายเอเชียมุ่งหน้าไปทางขึ้นเหนือ ลมหนาวที่พัดมาทำให้ผมรู้ว่า ทวนลมตลอดแน่ทริปนี้ ปลายทางคือดอยสุเทพ ซึ่งยังอีกไกลนัก ผมไม่ได้ท้อเลยสักนิด จะให้มาเป็นพายุผมก็ไม่หวั่น กำลังกายเต็มที่กำลังใจเต็มเปี่ยม เตรียมตัวมาดี ทริปนี้ก็เหมือนกับทริปไกลที่ผ่านมา คือผมจะคำนวณเวลาและกำหนดว่าควรจะถึงจุดไหนเวลาเท่าไร จากกำหนดเวลาที่ได้คำนวณไว้ ต้องถึงแยกสิงห์บุรี เวลา 6:16 น.ปรากฏว่าผมพาทุกคนมาถึงก่อนเวลาที่กำหนดไว้10นาที เอาล่ะเปิดหัวได้ดีกำลังใจมา


 ถึงแม้จะทวนลมแต่ผมก็ลากกันมาได้ก่อนเวลา เรามาถึงบายพาส นครสวรรค์ 8:40 น. เร็วกว่าที่กำหนดไว้ 18 นาที ทุกคนมีกำลังใจขึ้นมา ปั่นต่อมาอีกสักพักใหญ่ พี่ป๊อกบอกว่าบัสหลุดไปแล้ว ผมก็งงระยะสองร้อยว่ากิโลเมตรเองไม่น่ามีปัญหา แล้วบัสก็ตามมา เมื่อกี่บัสยางแตก ก็เลยเปลี่ยนล้อแล้วเกาะรถserviceมาเพื่อไม่ให้เสียเวลาที่ทุกคนจะต้องรอ แล้วเราก็ปั่นกันมาต่อ แล้วพี่ป๊อกก็ยางแตก ผมกับบัสเลยปั่นนำขึ้นมาก่อนจนถึงปั๊มน้ำมัน เราแวะพักจุดนี้เป็นจุดแรกที่ระยะทางสองร้อยกว่ากิโลเมตร ผมกับบัสไม่มีเงินติดตัวเลยสักบาท แต่ผมอยากกินอะไรเย็นๆ จึงเดินเข้าไปซื้อแล้วบอกว่าเพื่อนจะมาจ่าย แต่ผมก็นั่งรอ รออยู่พักใหญ่กว่ารถservice จะมาพร้อมกับพี่ป๊อก ตอนนั้นรออยู่ประมาณ27นาที เป็น27นาทีที่นานมาก เวลาที่ทำมาเร็วกว่ากำหนดก็หมดไป เสมอตัวแล้วตอนนี้ ผมบอกทุกคนว่าต้องเร่งกันแล้ว ผมพยายามเร่งความเร็วเพื่อกลับมาทำเวลาให้เร็วกว่ากำหนด แต่ลมที่พัดลงมาตลอดทำให้ไม่ใช่เรื่องง่าย

เรามาถึงแยกกําแพงเพชรใกล้เคียงกับเลาที่กำหนด แต่ผมไม่แน่ใจว่าเป็นแยกไหนกันแน่ที่กำหนดจุดไว้ เพราะมันมีแยกอยู่สองแยกที่เข้ากําแพงเพชร เวลา 15:01 น. มาถึงเมืองตาก เราทำเวลาได้เร็วกว่ากำหนดเพียงแค่ 1นาที ทางจากนี้ไปเริ่มขึ้นเขาแล้ว ความอ่อนล้าที่ปั่นมาเกือบสี่ร้อยกิโลเมตร ทุกคนต้องลืมให้หมด จากนี้ไปต้องสู้กับขุนเขา พอมาถึงบ้านตาก พี่เอ็ม ธนาพงศ์ กังวานสถาพงศ์ ก็รออยู่กับจักรยานคู่ใจ พี่เอ็ม ได้นั่งรถทัวร์มาจากรัวสิตเพื่อร่วมทางกับเราในครั้งนี้ โดยเริ่มปั่นจากบ้านตากแต่ปลายทางคือดอยสุเทพเหมือนกัน ลมที่พัดมาบวกกับเนินเขาไม่อาจทำให้เราช้ากว่ากำหมด เรามาถึงปากทางเขื่อนภูมิพลเร็วกว่ากำหนดพอสมควรเลย จากนั้นผมก็พยายามเร่งต่อไปเพื่อให้ไปถึงอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เร็วกว่ากำหนดไว้เยอะๆ เวลา 18:05 น. แวะพักครั้งที่สองที่เถิน เรามาเร็วกว่ากำหนด 20 นาที เหลืออีกไม่ถึงสองร้อยกิโลเมตรแล้ว กับเวลาอีกมากพอกว่าจะถึงตีสามอีกวัน เหมือนรู้แล้วว่ายังไงก็ทัน มาได้เกือบห้าร้อยกิโลเมตรแล้วสภาพร่างกายผมยังดีอยู่ ทุกคนก็ยังดูมีเรี่ยวแรง แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ไม่ควรชะล่าใจ 18:25 น. ออกเดินทางตามเวลาที่กำหนดเป๊ะเลย ผมคิดในใจว่า “เหลือแค่ขึ้นขุนตาลเท่านั้น เดี๋ยวก็เข้าเชียงใหม่แล้ว” จากเถินไปสบปราบเราก็ทำเวลาได้ดี จากสบปราบไปเกาะคา อันนี้มีเนินยาวๆที่ผมลืมคิดไป เกือบทำเวลาไม่ทันเหมือนกันยังดีที่ช่วงก่อนนั้นทำเวลาได้ดี จึงมาถึงโรงพยาบาลเกาะคาก่อนกำหนด5นาที ตอนนั้นเป็นเวลา 21:02น. แล้วเราก็มาถึงแยกนาก่วมเร็วกว่ากำหนด เลี้ยวซ้ายมุ่งตรงขึ้นขุนตาล เลยตลาดทุ่งเกวียนมาเล็กน้อยเราแวะยืดเส้นยืดสายแจกแจงเสบียงของแต่ละคนเพื่อเตรียมตัวขึ้นขุนตาลเพราะช่วงขึ้นเขารถserviceจะขนาบข้างไม่ได้ บัสที่มีอาการเจ็บเข่ามาตั้งแต่ก่อนถึงเถินก็ได้เอายาทา พี่ป๊อก พี่เอ็ม ยังสบายกันดี ผมก็ยังสดถึงแม้จะลากทวนลมมาเกือบหกร้อยกิโลเมตรแล้วก็ตาม สบายล่ะงานนี้ ทันแน่นอน และผมก็รู้ดีว่าเจ็บเข่าแค่นี้บัสทนได้ เรายืดเส้นยืดสายเสร็จก็ไปกันต่อ ช่วงขึ้นขุนตาลผมเร่งทำเวลาได้ดีกว่าที่กำหนดไว้เป็นสิบนาที ถึงยอดขุนตาลไหลลงกันแบบไม่คิดชีวิต ไปให้เร็วเส้นชัยรอเราอยู่ ถึงแยกดอยติ จังหวัดลำพูนเที่ยงคืนนิดๆ เร็วที่คำนวณไว้ เรามุ่งหน้าเข้าเชียงใหม่ เจอแค่หนึ่งสะพานกับสามอุโมงค์ ทันแน่ๆยังไงก็ทัน พอลงอุโมงค์ที่สาม บัสกับพี่ป๊อกก็หลุดไป ผมไม่มีเวลาหยุดรอแล้ว มุ่งหน้าไปต่ออย่างรวดเร็ว เวลา 1:26 น. มาถึงสวนสัตว์เชียงใหม่ เหลือเวลาขึ้นดอยสุเทพอีกเป็นชั่วโมงกับระยะทาง11กิโลเมตร ผมบอกตัวเองว่า “ ต้องทันนะพาย ” นี่มาได้666กิโลเมตรแล้ว ขึ้นเขาอีกนิดเดียวเอง ตอนนั้นรถserviceยังตามมาไม่ทัน จักรยานผมใส่ล้อขอบสูงกับเฟืองหลัง25ฟันอยู่ ผมเอาล้อมาสองชุด อีกชุดเอาไว้ขึ้นเขาโดยเฉพาะ เพราะล้อนั้นน้ำหนักเบากว่า และใส่เฟือง28ฟัน ไม่มีเวลารอเปลี่ยน รถserviceยังไม่มา ต้องเลยตามเลยปั่นขึ้นไป ตอนนั้นผมพยายามเร่งๆเพื่อทำเวลาให้ดีที่สุด ถึงแม้จะมั่นใจแล้วว่ายังไงก็ทัน24ชั่วโมง แต่ผมก็อยากทำเวลาให้ดีๆ ความอ่อนล้าจากการปั่นมาไกลต้องลืมไปให้หมด เวลา 2:24 น. ของวันที่5/12/16  ผมก็มาถึงหน้าวัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่ความสูงประมาณ950เมตรจากระดับน้ำทะเล รวมระยะทาง 677กิโลเมตร ผมใช้เวลา23ชั่วโมง24นาที นั่งรอบัสกับพี่ป๊อกอยู่ตรงบันไดทางขึ้นวัดรอลุ้นว่าจะทันใน24ชั่วโมงกันมั้ย ประมาณ30นาทีให้หลังบัสก็ตามมาถึง ตอนนั้นผมคิดว่าพี่ป๊อกคงขึ้นมาไม่ถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ ด้วยวัย53ปี มาถึงเชียงใหม่ได้ก็เก่งมากแล้ว แต่แล้วพี่ป๊อกก็ขึ้นมาถึงเหลือเวลาอีกแค่1นาทีจะครับ24ชั่วโมง ส่วนพี่เอ็มด้วยวัย57ปีก็ทำได้ตามตั้งใจถึงแม้จะไม่ได้เริ่มจากรังสิตแต่ก็นับว่าไม่ง่ายเลย 

 

 

 

 

 

 

 

ทริปนี้จบได้ดั่งใจหวังเพราะเราเตรียมร่างกายมาดี จักรยานก็พร้อม ต้องขอบคุณทีมserviceที่ขับรถตามตลอดไม่หลับไม่นอน และที่ขาดไม่ได้ต้องขอบคุณทุกๆคนที่อยู่เบื้องหลัง

 

พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

          

 

 

รังสิต-สุราษฎร์ธานี 672km 23 ชั่วโมง 15 นาที 12/8/16 – 13/8/16

รังสิต-สุราษฎร์ธานี 672km 23 ชั่วโมง 15 นาที 12/8/16 – 13/8/16

เคยอยากลองกันบ้างมั้ยในหนึ่งวันเราจะปั่นจักรยานไปไกลได้ขนาดไหน ผมล่ะคนหนึ่งที่อยากจะลอง อยู่มาวันหนึ่งน้องบัส ณัฐวุฒิ สิริจิตตานนท์ ผู้ที่ปั่นเคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยกันมานาน ก็ได้โพสลงเฟสบุ๊ค ผมไม่ได้จำรายละเอียดหรอกว่าเขียนว่าอะไร แค่เห็นคำว่า “ สะเทือนวงการ ” แค่นั้นก็ทำให้ผมต้องส่งข้อความไปหาน้องบัสในทันที บัสบอกว่า “ จะปั่นลงใต้ กลับบ้านที่จังหวัดสุราฏร์ธานี ” ผมบอกบัสว่า “ พี่ไปด้วย ” หลังจากนั้นผมก็โพสประกาศลงเฟสบุ๊ค บอกว่าผมกับบัสจะปั่นจักรยานจากรังสิตไปถึงศาลหลักเมืองจังหวัดสุราฏร์ธานี ใน 24 ชั่วโมง วันหลังจากนั้นบัสเข้ามาคุยที่ร้าน บอกว่าบ้านผมอยู่อำเภอไชยา ตอนแรกจะไปแค่อำเภอไชยา ผมบอกบัสว่า “ ไม่ทันแล้วประกาศไปแล้วไม่คืนคำ ” อำเภอไชยากับศาลหลักเมืองจังหวัดสุราฎร์ธานีห่างกันประมาณ 50 กิโลเมตร ไกลกว่านิดหน่อยคงไม่ใช่ปัญหา ถึงเวลาวางแผนการเดินทาง เส้นทางที่เราจะใช้คือถนนสายหลัก ระยะทางจากรังสิตไปถึงศาลหลักเมืองจังหวัดสุราฏร์ธานีคือ 672 กิโลเมตร ในหนึ่งวันเราไม่เคยปั่นจักรยานไกลขนาดนี้มาก่อนจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ทริปนี้จะไม่มีรถติดตาม ทุกอย่างเราต้องจัดการกันเอง จักรยานที่จะใช้ต้องเป็นที่จักรยานทำความเร็วได้ดีและต้องควบคุมได้อย่างมั่นใจ แต่ยังไม่ใช่แค่นั้นยังต้องสามารถนำอาหารให้พลังงานและน้ำดื่มไปได้ทีละมากๆด้วย เพื่อเราจะได้จอดให้น้อยที่สุด เพราะการจอดทุกครั้งก็ทำให้เสียเวลา เวลาที่จับอ้างอิงเวลาโลกไม่ใช่นับเฉพาะเวลาล้อหมุน อาหารที่เอาไปด้วยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเจลให้พลังงานที่สามารถกินได้ง่ายและให้พลังงานได้อย่างรวดเร็ว การนำเอาเจลไปด้วยนั้นง่ายๆแค่เอากระดาษกาวพันเจลติดไว้กับตัวถังจักรยาน หลังเบาะใส่ที่ยึดกระติกน้ำอีกสองใบ ก่อนวันเดินทางเราได้ทำการโหลดพลังงานคาร์โบไฮเดรตเก็บไว้ในร่างกาย ผมได้วางแผนเส้นทางและคำนวณความเร็วและเวลาถึงแต่ละจุดไว้ล่วงหน้าเพื่อกันความผิดพลาด โดยใช้การประเมินจากประสบการณ์คำนวณแบบความเร็วเฉลี่ยเชิงถดถอย เพื่อให้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุดวันออกเดินทางเช้าวันที่ 12/8/16 เวลา 3:00 น. เราออกเดินทางหน้าเทศบาลนครรังสิต ปั่นไปตามถนน 345 ช่วงนั้นทวนลมทำความเร็วได้ไม่ถึง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ออกตัวมาก็เจอลมเล่นงานแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ไปตลอด เราคงทำเวลาไม่ได้ตามที่คำนวณไว้ พอมาทางหลวงหมายเลข 9 เราเลี้ยวซ้ายไปตามทาง ลมเริ่มจะไม่ทวนสักเท่าไรออกจะส่งท้ายนิดๆด้วยซ้ำ เราเร่งทำเวลาเพื่อชดเชยช่วงแรกที่ช้าไป จากนั้นใช้เส้นพระรามสอง คราวนี้ตามลมแล้วเราจึงพยายามเร่งเพื่อทำเวลาให้ได้ดีที่สุดเพราะลมเป็นอะไรที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เมื่อลมส่งเราต้องกอบโกย ผิวทางจาราจรช่วงนั้นไม่ค่อยดี ผมกับบัสตกหลุม บัสขากระติกหลังเบาะหักไปหนึ่งอันกระติกน้ำกระเด็นหล่น ของผมก็ยางในที่รัดมาใต้เบาะหล่นไป1เส้น เหลือติดตัวไว้เส้นเดียว เราไม่วนกลับไปเก็บเพราะต้องทำเวลา ก่อนเจ็ดโมงถึงแยกวังมะนาวซึ่งเร็วกว่าที่คำนวณไว้อยู่หลายนาที ช่วงนั้นก็ตามลมอีก ขี่ไปสักพักมีรถขับมาเทียบเปิดกระจกถ่ายรูป พอเห็นลดกระจกลงเท่านั้นแหละเรายื่นขวดน้ำให้ไปเติมก่อนเลย คนละ2ขวดแต่ไม่ทันดูว่าใคร ที่แท่ก็คนรู้จักกัน ขอบคุณมากครับเราประหยัดเวลาไปได้ ปั่นมาสักพักบังเอิญเจอเพื่อนขับรถมาเที่ยว เลยมาถ่ายรูปให้ ขอบคุณมากนะครับปั่นต่อตามทางมาถึงแยกชะอำ ทำเวลาได้ดีกว่าที่วางไว้หลายสิบนาที เพราะลมส่งท้ายแรงมากบางช่วงทำความเร็วคงที่ได้เกือบ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่พอมาถึงแยกปราณบุรี ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ลมที่เคยส่งเรามาตอนนี้ทรยศกันแล้ว ต้องปั่นทวนลมแรงๆและจากนี้ไปทางยังเป็นเนินตลอด บางช่วงความเร็วต่ำกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เวลาที่เคยทำไว้ดีๆตอนนี้เริ่มช้าแล้ว พอมาถึงแยกบางสะพาน ทำเวลาช้ากว่าที่วางไว้ประมาณ 15 นาทีเพราะลมช่วงนี้กับเนินทำให้เราช้าลงถึงแม้จะทำเวลาได้ดีกว่าที่วางไว้ในช่วงแรกเกือบช่วงโมงก็ตาม ในใจคิดว่าคงถึงสุราษฎร์ไม่ทันในกรอบเวลาแน่ ผมพูดกับบัส “ ว่าถึงเราจะทำไม่ได้ใน 24 ชั่วโมง แต่เราไปถึงแน่ อาจจะกว่ากำหนดไป 2 ชั่วโมง ” มันเป็นคำพูดที่ใช้ปลอบใจคนที่รู้ตัวว่ากำลังจะแพ้ ปั่นทวนลมดันเนินจนเริ่มล้าจะช้าก็ไม่ได้เวลาเริ่มบีบเข้ามาทุกที เราอยู่ในสภาวะกดดัน เพราะเราต้องเร่งทั้งๆที่เริ่มหมดแรงอีกทั้งเส้นทางและกระแสลมไม่ได้ปราณีเลย เรายังคงพยายามกันต่อไป จากนั้นเข้าเขตจังหวัดชุมพรเริ่มมีฝนตกลงมา ทำให้เราต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปั่นมากขึ้น อีกทั้งทางยังมีการก่อสร้างถนน ต้องวิ่งสลับฝั่งถนนข้ามไปข้ามมา เสียเวลาชะลอตัวอีก พอตกเย็นกระแสลมเปลี่ยนทิศ ทีนี้สบายหน่อยอากาศเย็นๆลมส่งท้าย ได้ครายกรดในกล้ามเนื้อ ได้ทีกลับมาทำความเร็วได้อีกครั้ง เราเร่งความเร็วเพื่อให้ชดเชยเวลาที่ช้าไป ประมาณสองทุ่มมาถึงแยกปฐมพร จังหวัดชุมพร ระยะทางกับเวลาที่เหลืออยู่ มีลุ้นว่าจะทัน ถึงแม้จะอ่อนล้าจากการต่อสู้กับลมและเนินมานาน แต่ถ้ายังมีหวังเราต้องไม่ละทิ้งความพยายาม เราเร่งฝีเท้าเพื่อให้มั่นใจว่าจะไปถึงได้ทัน ก่อนถึงอำเภอละแมเราพักครั้งสุดท้าย จากนั้นเร่งความเร็วเพิ่มขึ้นไปอีก เพื่อให้มั่นใจว่าจะถึงที่หมายทันเวลา บัสปวดฉี่แต่ก็ไม่ขอให้หยุด ฉี่ไปในกางเกงเลย แล้วเราก็ทำสำเร็จ เวลา 2:15 น. ของวันที่ 13/8/16 มาถึงศาลหลักเมืองสุราษฎร์ธานี รวมใช้เวลาจากรังสิตถึงสุราษฎร์ธานี 23 ชั่วโมง 15 นาที(เวลารวมทุกอย่าง) ระยะทาง 672 กิโลเมตร ทำเวลาได้ใกล้เคียงกับที่คำนวณไว้มาก เป็นความสำเร็จที่งดงามมาก เราไม่อยากเชื่อตัวเองเลยว่าจะทำสำเร็จ แต่มันก็คือความจริง ปั่นจักรยานจากรังสิตถึงสุราษฎร์ธานีระยะทาง 672 กิโลเมตรไม่มีรถติดตาม เวลา 23 ชั่วโมง 15 นาที เราทำสำเร็จ

พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

 

การใช้เบรกในขณะลงเขา

การใช้เบรกในขณะลงเขา

นักปั่นหลายๆท่านพอเริ่มก้าวพ้นจากการเป็นมือใหม่ ก็เริ่มอยากหาความท้าทายและทดสอบกำลังตัวเองมากขึ้น การขี่จักรยานขึ้นเขานั้นจึงเข้ามาเป็นหนึ่งในบททดสอบนั้น เขาใหญ่ เขาเขียว หรือแม้แต่ดอยอินทนนท์จึงเป็นที่หมายตาหมายใจของนักปั่นที่ต้องการทดสอบตัวเอง บทความนี้เราจะไม่พูดถึงเทคนิคการขึ้นเขาเพราะผมเชื่อว่าแต่ละท่านคงมีวิธีการขึ้นเขา(เอาตัวรอด)ที่แตกต่างกัน เรามาพูดถึงขาลงกันดีกว่า ความมันส์ ความสนุก ความตื่นเต้น รวมถึงความอันตราย รวมอยู่ในขาลงทั้งหมด

หลักการของเบรกคืออะไร
เบรกคือการเปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานความร้อนโดยการเสียดสี พลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นจะถูกถ่ายเทสู่สภาพแวดล้อม เป็นไปตามกฏข้อที่หนึ่งของเทอร์โมไดนามิกหรือกฎการอนุรักษ์พลังงานนั่นเอง พลังงานจากมนุษย์ในการปั่นจักรยานทางราบนั้นจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆกับระบบเบรค(ถ้าทุกอย่างปกติ) แต่ถ้าลงเขาอันนี้แหละอันตราย การที่เราขี่จักรยานขึ้นเขานั้นเท่ากับว่าเราได้มีพลังพลังงานศักย์มากขึ้น ยิ่งขึ้นไปสูงเท่าไหร่พลังงานศักย์ก็มากขึ้นตามไปด้วย เมื่อเราขึ้นไปถึงยอดเขาก็เท่ากับว่าเราได้เปลี่ยนพลังงานจากอาหารที่เรากินเข้าไปกลายเป็นพลังงานศักย์ ขอยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพถึงพลังงานศักย์นะครับ เมื่อขึ้นถึงยอดเขาต่อให้เราหิวจนหมดแรงเราก็ยังสามารถไหลลงเขายาวๆจนถึงข้างล่างได้เพราะนั้นคือการปลดปล่อยพลังงานศักย์ กลับมาเรื่องเบรคกันต่อ ตามที่ได้บอกไว้ในข้างต้นแล้วว่า “ เบรคคือการเปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานความร้อน ” พลังงานศักย์ก็อยู่ในรูปแบบหนึ่งของพลังงานกล ลองคิดดูว่าถ้าพลังงานศักย์ที่ถูกเก็บไว้บนยอดเขาต้องถูกแปลงมาเป็นพลังงานความร้อนเกือบทั้งหมด มันจะเกิดความร้อนขึ้นขนาดไหน

เบรกอย่างไรเมื่อลงเขา
ระหว่างเบรกตลอดเพื่อให้รถลงช้ากับปล่อยไหลลงมาจนรู้สึกว่าเริ่มจะเร็วเกินไปจึงค่อยเบรก อันไหนปลอดภัยกว่ากัน เรื่องนี้ต้องขออ้างถึงกฎการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ พลังงานสามารถเปลี่ยนรูป หรือถูกถ่ายโอนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ แต่ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ หรือทำลายให้สูญสลายไปได้ ” นั้นหมายความว่าในขณะที่เรากำลังขี่จักรยานลงเขาอยู่นั้นพลังงานศักย์กำลังจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนรูป ผมขอใช่คำว่า “ ปลดปล่อยพลังงานศักย์ ” หากเราต้องหยุดหรือชะลอรถนั้นหมายความว่าเราต้องหาพลังงานหรือแรงต้านต่างๆมาสู่กับพลังงานศักย์ ทีนี้มาวิเคราะห์กันว่าในขณะที่เรากำลังจะหยุดหรือชะลอรถนั้นมีแรงต้านอะไรช่วยเราบ้าง(ไม่นับเบรกที่ล้อนะครับ) แรงต้านที่จะช่วยเราหยุดรถมันคือศัตรูในการปั่นของเรานั้นเอง ซึ่งจะประกอบไปด้วย ความฝืดของลูกปืน แรงเสียดทานระหว่างยางกับผิวถนน และแรงต้านอากาศเป็นต้น ในบรรดาแรงต้านที่กล่าวมานี้ แรงต้านอากาศมีผลมากที่สุด และแรงต้านอากาศแปรผันตามความเร็ว(ยิ่งเร็วยิ่งมีแรงต้านมาก) เอาล่ะเรารู้แล้วว่าแรงต้านอากาศมีบทบาทมาก มันช่วยสร้างแรงต้านส่งผลทำให้เบรกทำงานน้อยลง สรุปตรงนี้ก่อนว่า ถ้าเราไหลลงมาช้ามากๆแรงต้านอากาศจะมีส่วนน้อยในการหักล้างกับพลังงานศักย์แต่จะกลายเป็นเบรคที่จะได้รับบทหนัก ย้อนกลับไปที่ระหว่างเบรกตลอดเพื่อให้รถลงช้ากับปล่อยไหลลงมาจนรู้สึกว่าเริ่มจะเร็วเกินไปจึงค่อยเบรก อันไหนปลอดภัยกว่ากัน ตอบได้เลยว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ถ้าผิวถนนดีและไม่มีโค้งอันตราย ควรปล่อยไหล่ลงมาโดยใช้เบรคเพื่อควบคุมความเร็วไม่ให้เร็วเกินไปเท่านั้น ไม่ควรเบรกแช่ยาวๆ แต่ถ้าผิวทางไม่ดีเส้นทางไม่เหมาะจะทำความเร็ว ก็จำเป็นจะต้องใช้เบรคตลอดเวลาเพื่อควบคุมความเร็ว โดยจะต้องมีการจอดพักเบรกเป็นระยะๆ

ใช้เบรคหน้าหรือเบรคหลัง
จักรยานที่ใช้เบรกที่ขอบล้อ เช่น เบรคก้ามปู เบรกผีเสื้อ หรือวีเบรค ควรใช้เบรคให้เท่าๆกันทั้งสองล้อเพื่อไม่ให้เกิดความร้อนสูงมากเกินไปในล้อใดล้อหนึ่งจนเกิดความเสียหายกับยางหรือขอบล้อได้

จักรยานที่ใช้ดิสเบรคน้ำมัน ควรจะใช้เบรคใดเบรคหนึ่งเป็นหลัก ขอแนะนำเป็นเบรคหลัง เมื่อเวลาที่ต้องการหยุดหรือชลอมากกว่าเดิมจึงใช้เบรคหน้าเข้ามาเสริม สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้ก็เพราะ น้ำมันเบรคมีจุดเดือดครับ ถึงแม้น้ำมันเบรคดีๆจะมีจุดเดือดแห้งสูงถึง 260 องศาเซลเซียส(จุดเดือดแห้งคือน้ำมันเบรกแบบใหม่แกะกล่อง) แต่ถ้าน้ำมันเบรคเกิดเดือดขึ้นมาพร้อมกันทั้งหน้าและหลัง จะเกิดปัญหาขึ้นได้แต่ถ้าเราใช้เบรคหลังเป็นหลักแล้วเกิดปัญหาขึ้น เรายังมีเบรคหน้าที่ใช้หยุดรถได้

จักรยานที่ใช้ดิสเบรคสลิง ดูเหมือนจะได้เปรียบเพื่อนๆเพราะไม่มีน้ำมันให้เดือดเหมือนพวกระบบน้ำมัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต้องคอยระวังคือ ระยะผ้าเบรกไม่สามารถปรับได้ด้วยตัวเองเหมือนกับดิสเบรคน้ำมัน ต้องหมั่นคอยเช็คระยะผ้าเบรคอยู่เสมอ

เบรคจมเกิดจากอะไรและมีวิธีการเอาตัวรอดยังไง(ในเบรคน้ำมัน)
เบรกจมหมายถึงกำเบรกแล้วไม่มีการตอบสนอง สาเหตุเป็นเพราะความร้อนของน้ำมันเบรคที่มากขึ้นจนเกินจุดเดือดของน้ำมัน เมื่อน้ำมันเบรกเดือดจะมีฟองอากาศเกิดขึ้นในระบบทำให้ลูกสูบที่คาลิเปอร์ไม่ตอบสนอง วิธีเอาตัวรอดคือ ตั้งสติถ้าสามารถหยิบน้ำจากกระติกบีบใส่คาลิเปอร์ได้ก็จะเป็นการดี แต่ถ้าทำไม่ได้ ให้ทำการย้ำเบรกไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีการตอบสนอง และเมื่อมีการตอบสนองห้ามปล่อยเบรคโดยเด็ดขาดเพราะถ้าความดันในระบบลดลงจุดเดือดจะลดลงตามไปด้วย แต่ถ้าทำทุกอย่างแล้วไม่มีการตอบสนองก็หาที่เหมาะๆเตรียมสละยานได้เลย

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ช่วยให้ลงเขากันได้อย่างปลอดภัยนะครับ เขียนจากความรู้ ประสบการณ์และการวิเคราะห์ของผมเอง ผิดพลาดตรงไหนหรือมีคำแนะนำก็แสดงความเห็นมาได้นะครับ

 

พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

26/4/18