ตะคริว

ตะคริว

ตะคริว (Muscle Cramp) คือ การหดเกร็งตัวเป็นก้อนของกล้ามเนื้ออย่างกะทันหันแล้วไม่คลายตัวออก ทำให้รู้สึกเจ็บปวด จนไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อมัดที่เป็นตะคริวได้ มักจะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อที่ใช้งานหนักเป็นเวลานานหรืออาจจะแค่ไม่กี่นาทีก็เป็นได้ นักปั่นอย่างเราโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อขา ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง กล้ามเนื้อต้นขาข้างเข่าด้านใน

ออกกำลังกายหนักๆทำไม่ถึงเป็นตะคริว

ปวด ตึง เมื่อย กล้ามเนื้อนั้นคือสัญญาณที่บอกว่าร่างกายไม่สามารถจัดการกับของเสีย ที่เกิดจากขบวนการการเผาผลาญที่ไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic metabolism) ของเสียที่ว่านี้คือกรดแลคติก เจ้ากรดนี้จะทำให้กล้ามเนื้อล้า ถ้ายังฝืนทนต่อไปจะเป็นตะคริวได้ ดังนั้นถ้าต้องการไปต่อควรลดความเข้มข้นของกิจกรรมนั้นลง เช่น ปั่นให้ช้าลง วิ่งให้ช้าลง ไม่ควรหยุดในทันทีเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งไม่คลายตัว เมื่อลดความเข้มข้นของกิจกรรมลงสักพัก กรดแลคติก จะถูกเผาผลาญเป็นพลังงานจากขบวนการการเผาผลาญที่ใช้ออกซิเจน (aerobic metabolism) และอาการ ปวด ตึง เมื่อย กล้ามเนื้อ จะลดลงไปเอง

 

 

อากาศร้อนกับการเป็นตะคริว

แสงแดดแผดเผาท่ามกลางอุณหภูมิร้อนระอุ เป็นสภาพแบบนี้ร่างกายต้องทำงานหนักกับการระบายความร้อน เพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายไม่ให้ร้อนเกินไป สิ่งหนึ่งที่ร่างกายทำได้คือ การขับเหงื่อ สังเกตมั้ยว่าเหงื่อของเราจะมีความเค็มและเป็นกรด เมื่อเข้าตาก็จะแสบตา หรือถ้าเหงื่อหยดลงบนตัวถังจักรยานก็สามารถกัดสีเสียหายได้ นั้นเป็นเพราะเหงื่อไม่ได้มีแต่น้ำที่ออกมา แต่มีแร่ธาตุออกมาด้วย และเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำและแร่ธาตุ ไม่นานตะคริวจะถามหา วิธีป้องกันคือดื่มน้ำเป็นระยะๆและต้องชดเชยแร่ธาตุกลับเข้าไปด้วย มีแร่ธาตุกว่าสิบชนิดที่ร่างกายต้องการในปริมาณที่ต่างกันไป แต่แร่ธาตุที่สำคัญเอาไว้ให้เราสู้กับความร้อนคือ sodium และ potassium

  • หน้าที่ของ sodium คือ รักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย รักษาความเป็นกรดด่างของเลือดให้คงที่ ดูดซึมสารอาหารเข้าเซลล์ ควบคุมหัวใจให้ทำงานได้ปกติ
  • หน้าที่ของ potassium คือ ควบคุมระบบต่างๆเช่น ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ควบคุมการเต้นของหัวใจ รักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต และกำจัดของเสียในร่างกาย

 

 

ทำอย่างไรเมื่อเป็นตะคริว

เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถไปต่อได้ ต้องหยุดครับ แล้วค่อยๆยืดกล้ามเนื้อมันนั้นที่เป็น แต่ต้องคอยระวังกล้ามเนื้อมัดตรงข้ามกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดตะคริวขึ้นที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า แล้วเรากำลังยืดมัดนั้นโดยการยืนแล้วพับขาไปด้านหลัง เอามือจับเท้าไว้ กล้ามเนื้อขาที่ถูกใช้งานมาอย่างนักจากการปั่นจักรยานไม่ได้มีแค่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าอย่างเดียว มัดตรงข้ามกันที่ทำงานมาหนักพอๆกันก็คือต้นขาด้านหลัง การที่เรายืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า นั้นหมายถึงว่ากล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังจะหดตัวซึ่งอาจจะเกิดตะคริวขึ้นมาในขณะนั้นก็เป็นได้ ดังนั้นการยืดกล้ามเนื้อที่ดีจึงควรยืดอย่างช้าๆ คอยระวังกล้ามเนื้อมัดตรงข้าม และที่สำคัญอีกอย่างหากมีสาเหตุจากการขาดน้ำร่วมด้วย ควรดื่มน้ำที่มีแร่ธาตุเข้าไปด้วยในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรดื่มน้ำทีละมากๆ ให้เป็นการค่อยๆดื่มทีละอึก

พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

8/5/18

ระยะติดแม่เหล็กไมล์จักรยานมีผลทำให้ไมล์เพี้ยนหรือไม่

ระยะติดแม่เหล็กไมล์จักรยานมีผลทำให้ไมล์เพี้ยนหรือไม่

หลายท่านคงสงสัยว่าแม่เหล็กสำหรับเซ็นเซอร์ไมล์วัดความเร็วถ้าเราติดไกลจากดุมหรือติดใกล้ดุม จะมีผลทำให้ความเร็วที่แสดงบนหน้าจอของเราแตกต่างกันหรือไม่ ในคู่มือก็ไม่ได้กำหนดระยะห่างแม่เหล็กจากดุม มีเพียงกำหนดระยะห่างระหว่าแม่เหล็กกับเซ็นเซอร์ เพื่อไม่ให้ไกลหรือใกล้จนเกินไป ก่อนที่จะสรุปว่ามีผลหรือไม่เราลองมาอ่านบทความต่อไปนี้กันก่อนดีกว่า

 

หลักการทำงานของไมล์จักรยาน

Bicycle Computers หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่าไมล์จักรยาน แบบพื้นฐานโดยทั่วไปที่ไม่มีGPSจะวัดความเร็วจากเซ็นเซอร์ เจ้าเซ็นเซอร์นี้จะส่งสัญญาณทางสายหรือไร้สาย ขึ้นไปหาหน้าจอ โดยใช้การเหนี่ยวนำจากแม่เหล็กที่ติดซี่ลวด ส่งผลทำให้สวิทช์แม่เหล็กทำงาน แล้วส่งสัญญาณขึ้นไปให้หน้าจอคำนวณ โดยจะคำนวณจากเส้นรอบวงของยางกับช่วงเวลาระหว่างการส่งสัญญาณแต่ละครั้งว่าห่างกันแค่ไหนหรือนับรอบนั้นเอง สิ่งที่หน้าจอแสดงให้เห็นคือความเร็ว และจะใช้ความเร็วนี้คำนวณกับตัวแปรอื่นออกมาเป็น ความเร็วเฉลี่ย ระยะทาง เป็นต้น  มาพูดถึงกฎของการหมุนนิดนึงนะครับ กฎนี้มีอยู่ว่า ทุกจุดใดๆบนวงกลมจะมีความเร็วเชิงมุมเท่ากัน นั้นหมายความว่าไม่ว่าจุดนั้นจะไกลหรือใกล้จากจุดหมุนก็จะมีความเร็วเชิงมุมเท่ากัน และความเร็วเชิงมุมนี้อีกนัยหนึ่งก็คือความเร็วรอบนั้นเอง

สรุปได้ว่า ไม่ว่าเราจะติดแม่เหล็กไกลจากดุมหรือใกล้ดุม ก็ไม่มีผลทำให้ความเร็วเพี้ยน ดังนั้นจึงควรติดเซ็นเซอร์ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยให้ระยะห่างระหว่างแม่เหล็กกับเซ็นเซอร์อยู่ในระยะตามที่คู่มือกำหนด สำหรับตะเกียบเสือหมอบรูปทรงaeroอาจจะต้องหันเซ็นเซอร์ออกมาด้านหน้านะครับ และขอแนะนำอีกอย่างควรติดเซ็นเซอร์ไว้ที่ตะเกียบข้างขวาเพราะเวลาเรานอนรถจักรยานเราจะเอาข้างซ้ายลง สำหรับเซ็นเซอร์ที่วัดล้อหลัง ต้องติดเซ็นเซอร์ไว้ที่chainstayข้างซ้าย ผมเคยลองติดเซ็นเซอร์ไว้ที่chainstayข้างขวาแล้ว ปรากฏว่าแม่เหล็กดูดโว่ทำให้โซ่ตกเลยครับ

พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

2/5/18

การใช้เบรกในขณะลงเขา

การใช้เบรกในขณะลงเขา

นักปั่นหลายๆท่านพอเริ่มก้าวพ้นจากการเป็นมือใหม่ ก็เริ่มอยากหาความท้าทายและทดสอบกำลังตัวเองมากขึ้น การขี่จักรยานขึ้นเขานั้นจึงเข้ามาเป็นหนึ่งในบททดสอบนั้น เขาใหญ่ เขาเขียว หรือแม้แต่ดอยอินทนนท์จึงเป็นที่หมายตาหมายใจของนักปั่นที่ต้องการทดสอบตัวเอง บทความนี้เราจะไม่พูดถึงเทคนิคการขึ้นเขาเพราะผมเชื่อว่าแต่ละท่านคงมีวิธีการขึ้นเขา(เอาตัวรอด)ที่แตกต่างกัน เรามาพูดถึงขาลงกันดีกว่า ความมันส์ ความสนุก ความตื่นเต้น รวมถึงความอันตราย รวมอยู่ในขาลงทั้งหมด

หลักการของเบรกคืออะไร
เบรกคือการเปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานความร้อนโดยการเสียดสี พลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นจะถูกถ่ายเทสู่สภาพแวดล้อม เป็นไปตามกฏข้อที่หนึ่งของเทอร์โมไดนามิกหรือกฎการอนุรักษ์พลังงานนั่นเอง พลังงานจากมนุษย์ในการปั่นจักรยานทางราบนั้นจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆกับระบบเบรค(ถ้าทุกอย่างปกติ) แต่ถ้าลงเขาอันนี้แหละอันตราย การที่เราขี่จักรยานขึ้นเขานั้นเท่ากับว่าเราได้มีพลังพลังงานศักย์มากขึ้น ยิ่งขึ้นไปสูงเท่าไหร่พลังงานศักย์ก็มากขึ้นตามไปด้วย เมื่อเราขึ้นไปถึงยอดเขาก็เท่ากับว่าเราได้เปลี่ยนพลังงานจากอาหารที่เรากินเข้าไปกลายเป็นพลังงานศักย์ ขอยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพถึงพลังงานศักย์นะครับ เมื่อขึ้นถึงยอดเขาต่อให้เราหิวจนหมดแรงเราก็ยังสามารถไหลลงเขายาวๆจนถึงข้างล่างได้เพราะนั้นคือการปลดปล่อยพลังงานศักย์ กลับมาเรื่องเบรคกันต่อ ตามที่ได้บอกไว้ในข้างต้นแล้วว่า “ เบรคคือการเปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานความร้อน ” พลังงานศักย์ก็อยู่ในรูปแบบหนึ่งของพลังงานกล ลองคิดดูว่าถ้าพลังงานศักย์ที่ถูกเก็บไว้บนยอดเขาต้องถูกแปลงมาเป็นพลังงานความร้อนเกือบทั้งหมด มันจะเกิดความร้อนขึ้นขนาดไหน

เบรกอย่างไรเมื่อลงเขา
ระหว่างเบรกตลอดเพื่อให้รถลงช้ากับปล่อยไหลลงมาจนรู้สึกว่าเริ่มจะเร็วเกินไปจึงค่อยเบรก อันไหนปลอดภัยกว่ากัน เรื่องนี้ต้องขออ้างถึงกฎการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ พลังงานสามารถเปลี่ยนรูป หรือถูกถ่ายโอนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ แต่ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ หรือทำลายให้สูญสลายไปได้ ” นั้นหมายความว่าในขณะที่เรากำลังขี่จักรยานลงเขาอยู่นั้นพลังงานศักย์กำลังจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนรูป ผมขอใช่คำว่า “ ปลดปล่อยพลังงานศักย์ ” หากเราต้องหยุดหรือชะลอรถนั้นหมายความว่าเราต้องหาพลังงานหรือแรงต้านต่างๆมาสู่กับพลังงานศักย์ ทีนี้มาวิเคราะห์กันว่าในขณะที่เรากำลังจะหยุดหรือชะลอรถนั้นมีแรงต้านอะไรช่วยเราบ้าง(ไม่นับเบรกที่ล้อนะครับ) แรงต้านที่จะช่วยเราหยุดรถมันคือศัตรูในการปั่นของเรานั้นเอง ซึ่งจะประกอบไปด้วย ความฝืดของลูกปืน แรงเสียดทานระหว่างยางกับผิวถนน และแรงต้านอากาศเป็นต้น ในบรรดาแรงต้านที่กล่าวมานี้ แรงต้านอากาศมีผลมากที่สุด และแรงต้านอากาศแปรผันตามความเร็ว(ยิ่งเร็วยิ่งมีแรงต้านมาก) เอาล่ะเรารู้แล้วว่าแรงต้านอากาศมีบทบาทมาก มันช่วยสร้างแรงต้านส่งผลทำให้เบรกทำงานน้อยลง สรุปตรงนี้ก่อนว่า ถ้าเราไหลลงมาช้ามากๆแรงต้านอากาศจะมีส่วนน้อยในการหักล้างกับพลังงานศักย์แต่จะกลายเป็นเบรคที่จะได้รับบทหนัก ย้อนกลับไปที่ระหว่างเบรกตลอดเพื่อให้รถลงช้ากับปล่อยไหลลงมาจนรู้สึกว่าเริ่มจะเร็วเกินไปจึงค่อยเบรก อันไหนปลอดภัยกว่ากัน ตอบได้เลยว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ถ้าผิวถนนดีและไม่มีโค้งอันตราย ควรปล่อยไหล่ลงมาโดยใช้เบรคเพื่อควบคุมความเร็วไม่ให้เร็วเกินไปเท่านั้น ไม่ควรเบรกแช่ยาวๆ แต่ถ้าผิวทางไม่ดีเส้นทางไม่เหมาะจะทำความเร็ว ก็จำเป็นจะต้องใช้เบรคตลอดเวลาเพื่อควบคุมความเร็ว โดยจะต้องมีการจอดพักเบรกเป็นระยะๆ

ใช้เบรคหน้าหรือเบรคหลัง
จักรยานที่ใช้เบรกที่ขอบล้อ เช่น เบรคก้ามปู เบรกผีเสื้อ หรือวีเบรค ควรใช้เบรคให้เท่าๆกันทั้งสองล้อเพื่อไม่ให้เกิดความร้อนสูงมากเกินไปในล้อใดล้อหนึ่งจนเกิดความเสียหายกับยางหรือขอบล้อได้

จักรยานที่ใช้ดิสเบรคน้ำมัน ควรจะใช้เบรคใดเบรคหนึ่งเป็นหลัก ขอแนะนำเป็นเบรคหลัง เมื่อเวลาที่ต้องการหยุดหรือชลอมากกว่าเดิมจึงใช้เบรคหน้าเข้ามาเสริม สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้ก็เพราะ น้ำมันเบรคมีจุดเดือดครับ ถึงแม้น้ำมันเบรคดีๆจะมีจุดเดือดแห้งสูงถึง 260 องศาเซลเซียส(จุดเดือดแห้งคือน้ำมันเบรกแบบใหม่แกะกล่อง) แต่ถ้าน้ำมันเบรคเกิดเดือดขึ้นมาพร้อมกันทั้งหน้าและหลัง จะเกิดปัญหาขึ้นได้แต่ถ้าเราใช้เบรคหลังเป็นหลักแล้วเกิดปัญหาขึ้น เรายังมีเบรคหน้าที่ใช้หยุดรถได้

จักรยานที่ใช้ดิสเบรคสลิง ดูเหมือนจะได้เปรียบเพื่อนๆเพราะไม่มีน้ำมันให้เดือดเหมือนพวกระบบน้ำมัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต้องคอยระวังคือ ระยะผ้าเบรกไม่สามารถปรับได้ด้วยตัวเองเหมือนกับดิสเบรคน้ำมัน ต้องหมั่นคอยเช็คระยะผ้าเบรคอยู่เสมอ

เบรคจมเกิดจากอะไรและมีวิธีการเอาตัวรอดยังไง(ในเบรคน้ำมัน)
เบรกจมหมายถึงกำเบรกแล้วไม่มีการตอบสนอง สาเหตุเป็นเพราะความร้อนของน้ำมันเบรคที่มากขึ้นจนเกินจุดเดือดของน้ำมัน เมื่อน้ำมันเบรกเดือดจะมีฟองอากาศเกิดขึ้นในระบบทำให้ลูกสูบที่คาลิเปอร์ไม่ตอบสนอง วิธีเอาตัวรอดคือ ตั้งสติถ้าสามารถหยิบน้ำจากกระติกบีบใส่คาลิเปอร์ได้ก็จะเป็นการดี แต่ถ้าทำไม่ได้ ให้ทำการย้ำเบรกไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีการตอบสนอง และเมื่อมีการตอบสนองห้ามปล่อยเบรคโดยเด็ดขาดเพราะถ้าความดันในระบบลดลงจุดเดือดจะลดลงตามไปด้วย แต่ถ้าทำทุกอย่างแล้วไม่มีการตอบสนองก็หาที่เหมาะๆเตรียมสละยานได้เลย

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ช่วยให้ลงเขากันได้อย่างปลอดภัยนะครับ เขียนจากความรู้ ประสบการณ์และการวิเคราะห์ของผมเอง ผิดพลาดตรงไหนหรือมีคำแนะนำก็แสดงความเห็นมาได้นะครับ

 

พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

26/4/18