รังสิต-ดอยสุเทพ 677 km 23ชั่วโมง24นาที 4/12/16 3:00 น. – 5/12/16 2:24 น.

รังสิต-ดอยสุเทพ 677 km 23ชั่วโมง24นาที
4/12/16 3:00 น. – 5/12/16 2:24 น.
ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผชาติล้วนงามตา นามล้ำค่านครพิงค์ นี่คือคำขวัญประจำจังหวัดเชียงใหม่ นักปั่นหลายคนคงอยากปั่นจักรยานไปเชียงใหม่ ผมเองก็เคยปั่นจากบ้านที่รังสิตไปเชียงใหม่มาหลายครั้งแล้ว ทุกครั้งจะใช้เวลาไม่เกินสองวัน แต่นั้นมันก็ไม่ท้าทายอีกต่อไปแล้ว ผมต้องปั่นให้ถึงในวันเดียว คำขวัญของจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นต้นด้วย ดอยสุเทพ ทริปรังสิต-ดอยสุเทพจึงเกิดขึ้น

ทริปมีนักปั่นทั้งหมดสามคน พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย บัส ณัฐวุฒ สิริจิตตานนท์ พี่ป๊อก วิชาญ กลิ่นบัว และมีรถserviceอีกหนึ่งคัน โดยมี พี่นุ อนุชิต ชุ้นสามพราน พี่หนึ่ง ศศิพร ชุ้มสามพราน พี่เอ ยุทธนา หงส์ดิลกกุล คอยดูแล เช้าวันที่ 4 ธันวาคม 2559 เวลา 3:00 น. ออกเดินทางจากปั๊มเชลที่รังสิต(เลยโลตัสมานิดนึง) เราปั่นไปตามถนนพหลโยธิน เป็นวันที่ลมแรงมาก พอไปถึงสายเอเชียมุ่งหน้าไปทางขึ้นเหนือ ลมหนาวที่พัดมาทำให้ผมรู้ว่า ทวนลมตลอดแน่ทริปนี้ ปลายทางคือดอยสุเทพ ซึ่งยังอีกไกลนัก ผมไม่ได้ท้อเลยสักนิด จะให้มาเป็นพายุผมก็ไม่หวั่น กำลังกายเต็มที่กำลังใจเต็มเปี่ยม เตรียมตัวมาดี ทริปนี้ก็เหมือนกับทริปไกลที่ผ่านมา คือผมจะคำนวณเวลาและกำหนดว่าควรจะถึงจุดไหนเวลาเท่าไร จากกำหนดเวลาที่ได้คำนวณไว้ ต้องถึงแยกสิงห์บุรี เวลา 6:16 น.ปรากฏว่าผมพาทุกคนมาถึงก่อนเวลาที่กำหนดไว้10นาที เอาล่ะเปิดหัวได้ดีกำลังใจมา


 ถึงแม้จะทวนลมแต่ผมก็ลากกันมาได้ก่อนเวลา เรามาถึงบายพาส นครสวรรค์ 8:40 น. เร็วกว่าที่กำหนดไว้ 18 นาที ทุกคนมีกำลังใจขึ้นมา ปั่นต่อมาอีกสักพักใหญ่ พี่ป๊อกบอกว่าบัสหลุดไปแล้ว ผมก็งงระยะสองร้อยว่ากิโลเมตรเองไม่น่ามีปัญหา แล้วบัสก็ตามมา เมื่อกี่บัสยางแตก ก็เลยเปลี่ยนล้อแล้วเกาะรถserviceมาเพื่อไม่ให้เสียเวลาที่ทุกคนจะต้องรอ แล้วเราก็ปั่นกันมาต่อ แล้วพี่ป๊อกก็ยางแตก ผมกับบัสเลยปั่นนำขึ้นมาก่อนจนถึงปั๊มน้ำมัน เราแวะพักจุดนี้เป็นจุดแรกที่ระยะทางสองร้อยกว่ากิโลเมตร ผมกับบัสไม่มีเงินติดตัวเลยสักบาท แต่ผมอยากกินอะไรเย็นๆ จึงเดินเข้าไปซื้อแล้วบอกว่าเพื่อนจะมาจ่าย แต่ผมก็นั่งรอ รออยู่พักใหญ่กว่ารถservice จะมาพร้อมกับพี่ป๊อก ตอนนั้นรออยู่ประมาณ27นาที เป็น27นาทีที่นานมาก เวลาที่ทำมาเร็วกว่ากำหนดก็หมดไป เสมอตัวแล้วตอนนี้ ผมบอกทุกคนว่าต้องเร่งกันแล้ว ผมพยายามเร่งความเร็วเพื่อกลับมาทำเวลาให้เร็วกว่ากำหนด แต่ลมที่พัดลงมาตลอดทำให้ไม่ใช่เรื่องง่าย

เรามาถึงแยกกําแพงเพชรใกล้เคียงกับเลาที่กำหนด แต่ผมไม่แน่ใจว่าเป็นแยกไหนกันแน่ที่กำหนดจุดไว้ เพราะมันมีแยกอยู่สองแยกที่เข้ากําแพงเพชร เวลา 15:01 น. มาถึงเมืองตาก เราทำเวลาได้เร็วกว่ากำหนดเพียงแค่ 1นาที ทางจากนี้ไปเริ่มขึ้นเขาแล้ว ความอ่อนล้าที่ปั่นมาเกือบสี่ร้อยกิโลเมตร ทุกคนต้องลืมให้หมด จากนี้ไปต้องสู้กับขุนเขา พอมาถึงบ้านตาก พี่เอ็ม ธนาพงศ์ กังวานสถาพงศ์ ก็รออยู่กับจักรยานคู่ใจ พี่เอ็ม ได้นั่งรถทัวร์มาจากรัวสิตเพื่อร่วมทางกับเราในครั้งนี้ โดยเริ่มปั่นจากบ้านตากแต่ปลายทางคือดอยสุเทพเหมือนกัน ลมที่พัดมาบวกกับเนินเขาไม่อาจทำให้เราช้ากว่ากำหมด เรามาถึงปากทางเขื่อนภูมิพลเร็วกว่ากำหนดพอสมควรเลย จากนั้นผมก็พยายามเร่งต่อไปเพื่อให้ไปถึงอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เร็วกว่ากำหนดไว้เยอะๆ เวลา 18:05 น. แวะพักครั้งที่สองที่เถิน เรามาเร็วกว่ากำหนด 20 นาที เหลืออีกไม่ถึงสองร้อยกิโลเมตรแล้ว กับเวลาอีกมากพอกว่าจะถึงตีสามอีกวัน เหมือนรู้แล้วว่ายังไงก็ทัน มาได้เกือบห้าร้อยกิโลเมตรแล้วสภาพร่างกายผมยังดีอยู่ ทุกคนก็ยังดูมีเรี่ยวแรง แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ไม่ควรชะล่าใจ 18:25 น. ออกเดินทางตามเวลาที่กำหนดเป๊ะเลย ผมคิดในใจว่า “เหลือแค่ขึ้นขุนตาลเท่านั้น เดี๋ยวก็เข้าเชียงใหม่แล้ว” จากเถินไปสบปราบเราก็ทำเวลาได้ดี จากสบปราบไปเกาะคา อันนี้มีเนินยาวๆที่ผมลืมคิดไป เกือบทำเวลาไม่ทันเหมือนกันยังดีที่ช่วงก่อนนั้นทำเวลาได้ดี จึงมาถึงโรงพยาบาลเกาะคาก่อนกำหนด5นาที ตอนนั้นเป็นเวลา 21:02น. แล้วเราก็มาถึงแยกนาก่วมเร็วกว่ากำหนด เลี้ยวซ้ายมุ่งตรงขึ้นขุนตาล เลยตลาดทุ่งเกวียนมาเล็กน้อยเราแวะยืดเส้นยืดสายแจกแจงเสบียงของแต่ละคนเพื่อเตรียมตัวขึ้นขุนตาลเพราะช่วงขึ้นเขารถserviceจะขนาบข้างไม่ได้ บัสที่มีอาการเจ็บเข่ามาตั้งแต่ก่อนถึงเถินก็ได้เอายาทา พี่ป๊อก พี่เอ็ม ยังสบายกันดี ผมก็ยังสดถึงแม้จะลากทวนลมมาเกือบหกร้อยกิโลเมตรแล้วก็ตาม สบายล่ะงานนี้ ทันแน่นอน และผมก็รู้ดีว่าเจ็บเข่าแค่นี้บัสทนได้ เรายืดเส้นยืดสายเสร็จก็ไปกันต่อ ช่วงขึ้นขุนตาลผมเร่งทำเวลาได้ดีกว่าที่กำหนดไว้เป็นสิบนาที ถึงยอดขุนตาลไหลลงกันแบบไม่คิดชีวิต ไปให้เร็วเส้นชัยรอเราอยู่ ถึงแยกดอยติ จังหวัดลำพูนเที่ยงคืนนิดๆ เร็วที่คำนวณไว้ เรามุ่งหน้าเข้าเชียงใหม่ เจอแค่หนึ่งสะพานกับสามอุโมงค์ ทันแน่ๆยังไงก็ทัน พอลงอุโมงค์ที่สาม บัสกับพี่ป๊อกก็หลุดไป ผมไม่มีเวลาหยุดรอแล้ว มุ่งหน้าไปต่ออย่างรวดเร็ว เวลา 1:26 น. มาถึงสวนสัตว์เชียงใหม่ เหลือเวลาขึ้นดอยสุเทพอีกเป็นชั่วโมงกับระยะทาง11กิโลเมตร ผมบอกตัวเองว่า “ ต้องทันนะพาย ” นี่มาได้666กิโลเมตรแล้ว ขึ้นเขาอีกนิดเดียวเอง ตอนนั้นรถserviceยังตามมาไม่ทัน จักรยานผมใส่ล้อขอบสูงกับเฟืองหลัง25ฟันอยู่ ผมเอาล้อมาสองชุด อีกชุดเอาไว้ขึ้นเขาโดยเฉพาะ เพราะล้อนั้นน้ำหนักเบากว่า และใส่เฟือง28ฟัน ไม่มีเวลารอเปลี่ยน รถserviceยังไม่มา ต้องเลยตามเลยปั่นขึ้นไป ตอนนั้นผมพยายามเร่งๆเพื่อทำเวลาให้ดีที่สุด ถึงแม้จะมั่นใจแล้วว่ายังไงก็ทัน24ชั่วโมง แต่ผมก็อยากทำเวลาให้ดีๆ ความอ่อนล้าจากการปั่นมาไกลต้องลืมไปให้หมด เวลา 2:24 น. ของวันที่5/12/16  ผมก็มาถึงหน้าวัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่ความสูงประมาณ950เมตรจากระดับน้ำทะเล รวมระยะทาง 677กิโลเมตร ผมใช้เวลา23ชั่วโมง24นาที นั่งรอบัสกับพี่ป๊อกอยู่ตรงบันไดทางขึ้นวัดรอลุ้นว่าจะทันใน24ชั่วโมงกันมั้ย ประมาณ30นาทีให้หลังบัสก็ตามมาถึง ตอนนั้นผมคิดว่าพี่ป๊อกคงขึ้นมาไม่ถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ ด้วยวัย53ปี มาถึงเชียงใหม่ได้ก็เก่งมากแล้ว แต่แล้วพี่ป๊อกก็ขึ้นมาถึงเหลือเวลาอีกแค่1นาทีจะครับ24ชั่วโมง ส่วนพี่เอ็มด้วยวัย57ปีก็ทำได้ตามตั้งใจถึงแม้จะไม่ได้เริ่มจากรังสิตแต่ก็นับว่าไม่ง่ายเลย 

 

 

 

 

 

 

 

ทริปนี้จบได้ดั่งใจหวังเพราะเราเตรียมร่างกายมาดี จักรยานก็พร้อม ต้องขอบคุณทีมserviceที่ขับรถตามตลอดไม่หลับไม่นอน และที่ขาดไม่ได้ต้องขอบคุณทุกๆคนที่อยู่เบื้องหลัง

 

พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

          

 

 

รังสิต-สุราษฎร์ธานี 672km 23 ชั่วโมง 15 นาที 12/8/16 – 13/8/16

รังสิต-สุราษฎร์ธานี 672km 23 ชั่วโมง 15 นาที 12/8/16 – 13/8/16

เคยอยากลองกันบ้างมั้ยในหนึ่งวันเราจะปั่นจักรยานไปไกลได้ขนาดไหน ผมล่ะคนหนึ่งที่อยากจะลอง อยู่มาวันหนึ่งน้องบัส ณัฐวุฒิ สิริจิตตานนท์ ผู้ที่ปั่นเคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยกันมานาน ก็ได้โพสลงเฟสบุ๊ค ผมไม่ได้จำรายละเอียดหรอกว่าเขียนว่าอะไร แค่เห็นคำว่า “ สะเทือนวงการ ” แค่นั้นก็ทำให้ผมต้องส่งข้อความไปหาน้องบัสในทันที บัสบอกว่า “ จะปั่นลงใต้ กลับบ้านที่จังหวัดสุราฏร์ธานี ” ผมบอกบัสว่า “ พี่ไปด้วย ” หลังจากนั้นผมก็โพสประกาศลงเฟสบุ๊ค บอกว่าผมกับบัสจะปั่นจักรยานจากรังสิตไปถึงศาลหลักเมืองจังหวัดสุราฏร์ธานี ใน 24 ชั่วโมง วันหลังจากนั้นบัสเข้ามาคุยที่ร้าน บอกว่าบ้านผมอยู่อำเภอไชยา ตอนแรกจะไปแค่อำเภอไชยา ผมบอกบัสว่า “ ไม่ทันแล้วประกาศไปแล้วไม่คืนคำ ” อำเภอไชยากับศาลหลักเมืองจังหวัดสุราฎร์ธานีห่างกันประมาณ 50 กิโลเมตร ไกลกว่านิดหน่อยคงไม่ใช่ปัญหา ถึงเวลาวางแผนการเดินทาง เส้นทางที่เราจะใช้คือถนนสายหลัก ระยะทางจากรังสิตไปถึงศาลหลักเมืองจังหวัดสุราฏร์ธานีคือ 672 กิโลเมตร ในหนึ่งวันเราไม่เคยปั่นจักรยานไกลขนาดนี้มาก่อนจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ทริปนี้จะไม่มีรถติดตาม ทุกอย่างเราต้องจัดการกันเอง จักรยานที่จะใช้ต้องเป็นที่จักรยานทำความเร็วได้ดีและต้องควบคุมได้อย่างมั่นใจ แต่ยังไม่ใช่แค่นั้นยังต้องสามารถนำอาหารให้พลังงานและน้ำดื่มไปได้ทีละมากๆด้วย เพื่อเราจะได้จอดให้น้อยที่สุด เพราะการจอดทุกครั้งก็ทำให้เสียเวลา เวลาที่จับอ้างอิงเวลาโลกไม่ใช่นับเฉพาะเวลาล้อหมุน อาหารที่เอาไปด้วยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเจลให้พลังงานที่สามารถกินได้ง่ายและให้พลังงานได้อย่างรวดเร็ว การนำเอาเจลไปด้วยนั้นง่ายๆแค่เอากระดาษกาวพันเจลติดไว้กับตัวถังจักรยาน หลังเบาะใส่ที่ยึดกระติกน้ำอีกสองใบ ก่อนวันเดินทางเราได้ทำการโหลดพลังงานคาร์โบไฮเดรตเก็บไว้ในร่างกาย ผมได้วางแผนเส้นทางและคำนวณความเร็วและเวลาถึงแต่ละจุดไว้ล่วงหน้าเพื่อกันความผิดพลาด โดยใช้การประเมินจากประสบการณ์คำนวณแบบความเร็วเฉลี่ยเชิงถดถอย เพื่อให้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุดวันออกเดินทางเช้าวันที่ 12/8/16 เวลา 3:00 น. เราออกเดินทางหน้าเทศบาลนครรังสิต ปั่นไปตามถนน 345 ช่วงนั้นทวนลมทำความเร็วได้ไม่ถึง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ออกตัวมาก็เจอลมเล่นงานแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ไปตลอด เราคงทำเวลาไม่ได้ตามที่คำนวณไว้ พอมาทางหลวงหมายเลข 9 เราเลี้ยวซ้ายไปตามทาง ลมเริ่มจะไม่ทวนสักเท่าไรออกจะส่งท้ายนิดๆด้วยซ้ำ เราเร่งทำเวลาเพื่อชดเชยช่วงแรกที่ช้าไป จากนั้นใช้เส้นพระรามสอง คราวนี้ตามลมแล้วเราจึงพยายามเร่งเพื่อทำเวลาให้ได้ดีที่สุดเพราะลมเป็นอะไรที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เมื่อลมส่งเราต้องกอบโกย ผิวทางจาราจรช่วงนั้นไม่ค่อยดี ผมกับบัสตกหลุม บัสขากระติกหลังเบาะหักไปหนึ่งอันกระติกน้ำกระเด็นหล่น ของผมก็ยางในที่รัดมาใต้เบาะหล่นไป1เส้น เหลือติดตัวไว้เส้นเดียว เราไม่วนกลับไปเก็บเพราะต้องทำเวลา ก่อนเจ็ดโมงถึงแยกวังมะนาวซึ่งเร็วกว่าที่คำนวณไว้อยู่หลายนาที ช่วงนั้นก็ตามลมอีก ขี่ไปสักพักมีรถขับมาเทียบเปิดกระจกถ่ายรูป พอเห็นลดกระจกลงเท่านั้นแหละเรายื่นขวดน้ำให้ไปเติมก่อนเลย คนละ2ขวดแต่ไม่ทันดูว่าใคร ที่แท่ก็คนรู้จักกัน ขอบคุณมากครับเราประหยัดเวลาไปได้ ปั่นมาสักพักบังเอิญเจอเพื่อนขับรถมาเที่ยว เลยมาถ่ายรูปให้ ขอบคุณมากนะครับปั่นต่อตามทางมาถึงแยกชะอำ ทำเวลาได้ดีกว่าที่วางไว้หลายสิบนาที เพราะลมส่งท้ายแรงมากบางช่วงทำความเร็วคงที่ได้เกือบ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่พอมาถึงแยกปราณบุรี ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ลมที่เคยส่งเรามาตอนนี้ทรยศกันแล้ว ต้องปั่นทวนลมแรงๆและจากนี้ไปทางยังเป็นเนินตลอด บางช่วงความเร็วต่ำกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เวลาที่เคยทำไว้ดีๆตอนนี้เริ่มช้าแล้ว พอมาถึงแยกบางสะพาน ทำเวลาช้ากว่าที่วางไว้ประมาณ 15 นาทีเพราะลมช่วงนี้กับเนินทำให้เราช้าลงถึงแม้จะทำเวลาได้ดีกว่าที่วางไว้ในช่วงแรกเกือบช่วงโมงก็ตาม ในใจคิดว่าคงถึงสุราษฎร์ไม่ทันในกรอบเวลาแน่ ผมพูดกับบัส “ ว่าถึงเราจะทำไม่ได้ใน 24 ชั่วโมง แต่เราไปถึงแน่ อาจจะกว่ากำหนดไป 2 ชั่วโมง ” มันเป็นคำพูดที่ใช้ปลอบใจคนที่รู้ตัวว่ากำลังจะแพ้ ปั่นทวนลมดันเนินจนเริ่มล้าจะช้าก็ไม่ได้เวลาเริ่มบีบเข้ามาทุกที เราอยู่ในสภาวะกดดัน เพราะเราต้องเร่งทั้งๆที่เริ่มหมดแรงอีกทั้งเส้นทางและกระแสลมไม่ได้ปราณีเลย เรายังคงพยายามกันต่อไป จากนั้นเข้าเขตจังหวัดชุมพรเริ่มมีฝนตกลงมา ทำให้เราต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปั่นมากขึ้น อีกทั้งทางยังมีการก่อสร้างถนน ต้องวิ่งสลับฝั่งถนนข้ามไปข้ามมา เสียเวลาชะลอตัวอีก พอตกเย็นกระแสลมเปลี่ยนทิศ ทีนี้สบายหน่อยอากาศเย็นๆลมส่งท้าย ได้ครายกรดในกล้ามเนื้อ ได้ทีกลับมาทำความเร็วได้อีกครั้ง เราเร่งความเร็วเพื่อให้ชดเชยเวลาที่ช้าไป ประมาณสองทุ่มมาถึงแยกปฐมพร จังหวัดชุมพร ระยะทางกับเวลาที่เหลืออยู่ มีลุ้นว่าจะทัน ถึงแม้จะอ่อนล้าจากการต่อสู้กับลมและเนินมานาน แต่ถ้ายังมีหวังเราต้องไม่ละทิ้งความพยายาม เราเร่งฝีเท้าเพื่อให้มั่นใจว่าจะไปถึงได้ทัน ก่อนถึงอำเภอละแมเราพักครั้งสุดท้าย จากนั้นเร่งความเร็วเพิ่มขึ้นไปอีก เพื่อให้มั่นใจว่าจะถึงที่หมายทันเวลา บัสปวดฉี่แต่ก็ไม่ขอให้หยุด ฉี่ไปในกางเกงเลย แล้วเราก็ทำสำเร็จ เวลา 2:15 น. ของวันที่ 13/8/16 มาถึงศาลหลักเมืองสุราษฎร์ธานี รวมใช้เวลาจากรังสิตถึงสุราษฎร์ธานี 23 ชั่วโมง 15 นาที(เวลารวมทุกอย่าง) ระยะทาง 672 กิโลเมตร ทำเวลาได้ใกล้เคียงกับที่คำนวณไว้มาก เป็นความสำเร็จที่งดงามมาก เราไม่อยากเชื่อตัวเองเลยว่าจะทำสำเร็จ แต่มันก็คือความจริง ปั่นจักรยานจากรังสิตถึงสุราษฎร์ธานีระยะทาง 672 กิโลเมตรไม่มีรถติดตาม เวลา 23 ชั่วโมง 15 นาที เราทำสำเร็จ

พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

 

การใช้เบรกในขณะลงเขา

การใช้เบรกในขณะลงเขา

นักปั่นหลายๆท่านพอเริ่มก้าวพ้นจากการเป็นมือใหม่ ก็เริ่มอยากหาความท้าทายและทดสอบกำลังตัวเองมากขึ้น การขี่จักรยานขึ้นเขานั้นจึงเข้ามาเป็นหนึ่งในบททดสอบนั้น เขาใหญ่ เขาเขียว หรือแม้แต่ดอยอินทนนท์จึงเป็นที่หมายตาหมายใจของนักปั่นที่ต้องการทดสอบตัวเอง บทความนี้เราจะไม่พูดถึงเทคนิคการขึ้นเขาเพราะผมเชื่อว่าแต่ละท่านคงมีวิธีการขึ้นเขา(เอาตัวรอด)ที่แตกต่างกัน เรามาพูดถึงขาลงกันดีกว่า ความมันส์ ความสนุก ความตื่นเต้น รวมถึงความอันตราย รวมอยู่ในขาลงทั้งหมด

หลักการของเบรกคืออะไร
เบรกคือการเปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานความร้อนโดยการเสียดสี พลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นจะถูกถ่ายเทสู่สภาพแวดล้อม เป็นไปตามกฏข้อที่หนึ่งของเทอร์โมไดนามิกหรือกฎการอนุรักษ์พลังงานนั่นเอง พลังงานจากมนุษย์ในการปั่นจักรยานทางราบนั้นจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆกับระบบเบรค(ถ้าทุกอย่างปกติ) แต่ถ้าลงเขาอันนี้แหละอันตราย การที่เราขี่จักรยานขึ้นเขานั้นเท่ากับว่าเราได้มีพลังพลังงานศักย์มากขึ้น ยิ่งขึ้นไปสูงเท่าไหร่พลังงานศักย์ก็มากขึ้นตามไปด้วย เมื่อเราขึ้นไปถึงยอดเขาก็เท่ากับว่าเราได้เปลี่ยนพลังงานจากอาหารที่เรากินเข้าไปกลายเป็นพลังงานศักย์ ขอยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพถึงพลังงานศักย์นะครับ เมื่อขึ้นถึงยอดเขาต่อให้เราหิวจนหมดแรงเราก็ยังสามารถไหลลงเขายาวๆจนถึงข้างล่างได้เพราะนั้นคือการปลดปล่อยพลังงานศักย์ กลับมาเรื่องเบรคกันต่อ ตามที่ได้บอกไว้ในข้างต้นแล้วว่า “ เบรคคือการเปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานความร้อน ” พลังงานศักย์ก็อยู่ในรูปแบบหนึ่งของพลังงานกล ลองคิดดูว่าถ้าพลังงานศักย์ที่ถูกเก็บไว้บนยอดเขาต้องถูกแปลงมาเป็นพลังงานความร้อนเกือบทั้งหมด มันจะเกิดความร้อนขึ้นขนาดไหน

เบรกอย่างไรเมื่อลงเขา
ระหว่างเบรกตลอดเพื่อให้รถลงช้ากับปล่อยไหลลงมาจนรู้สึกว่าเริ่มจะเร็วเกินไปจึงค่อยเบรก อันไหนปลอดภัยกว่ากัน เรื่องนี้ต้องขออ้างถึงกฎการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ พลังงานสามารถเปลี่ยนรูป หรือถูกถ่ายโอนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ แต่ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ หรือทำลายให้สูญสลายไปได้ ” นั้นหมายความว่าในขณะที่เรากำลังขี่จักรยานลงเขาอยู่นั้นพลังงานศักย์กำลังจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนรูป ผมขอใช่คำว่า “ ปลดปล่อยพลังงานศักย์ ” หากเราต้องหยุดหรือชะลอรถนั้นหมายความว่าเราต้องหาพลังงานหรือแรงต้านต่างๆมาสู่กับพลังงานศักย์ ทีนี้มาวิเคราะห์กันว่าในขณะที่เรากำลังจะหยุดหรือชะลอรถนั้นมีแรงต้านอะไรช่วยเราบ้าง(ไม่นับเบรกที่ล้อนะครับ) แรงต้านที่จะช่วยเราหยุดรถมันคือศัตรูในการปั่นของเรานั้นเอง ซึ่งจะประกอบไปด้วย ความฝืดของลูกปืน แรงเสียดทานระหว่างยางกับผิวถนน และแรงต้านอากาศเป็นต้น ในบรรดาแรงต้านที่กล่าวมานี้ แรงต้านอากาศมีผลมากที่สุด และแรงต้านอากาศแปรผันตามความเร็ว(ยิ่งเร็วยิ่งมีแรงต้านมาก) เอาล่ะเรารู้แล้วว่าแรงต้านอากาศมีบทบาทมาก มันช่วยสร้างแรงต้านส่งผลทำให้เบรกทำงานน้อยลง สรุปตรงนี้ก่อนว่า ถ้าเราไหลลงมาช้ามากๆแรงต้านอากาศจะมีส่วนน้อยในการหักล้างกับพลังงานศักย์แต่จะกลายเป็นเบรคที่จะได้รับบทหนัก ย้อนกลับไปที่ระหว่างเบรกตลอดเพื่อให้รถลงช้ากับปล่อยไหลลงมาจนรู้สึกว่าเริ่มจะเร็วเกินไปจึงค่อยเบรก อันไหนปลอดภัยกว่ากัน ตอบได้เลยว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ถ้าผิวถนนดีและไม่มีโค้งอันตราย ควรปล่อยไหล่ลงมาโดยใช้เบรคเพื่อควบคุมความเร็วไม่ให้เร็วเกินไปเท่านั้น ไม่ควรเบรกแช่ยาวๆ แต่ถ้าผิวทางไม่ดีเส้นทางไม่เหมาะจะทำความเร็ว ก็จำเป็นจะต้องใช้เบรคตลอดเวลาเพื่อควบคุมความเร็ว โดยจะต้องมีการจอดพักเบรกเป็นระยะๆ

ใช้เบรคหน้าหรือเบรคหลัง
จักรยานที่ใช้เบรกที่ขอบล้อ เช่น เบรคก้ามปู เบรกผีเสื้อ หรือวีเบรค ควรใช้เบรคให้เท่าๆกันทั้งสองล้อเพื่อไม่ให้เกิดความร้อนสูงมากเกินไปในล้อใดล้อหนึ่งจนเกิดความเสียหายกับยางหรือขอบล้อได้

จักรยานที่ใช้ดิสเบรคน้ำมัน ควรจะใช้เบรคใดเบรคหนึ่งเป็นหลัก ขอแนะนำเป็นเบรคหลัง เมื่อเวลาที่ต้องการหยุดหรือชลอมากกว่าเดิมจึงใช้เบรคหน้าเข้ามาเสริม สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้ก็เพราะ น้ำมันเบรคมีจุดเดือดครับ ถึงแม้น้ำมันเบรคดีๆจะมีจุดเดือดแห้งสูงถึง 260 องศาเซลเซียส(จุดเดือดแห้งคือน้ำมันเบรกแบบใหม่แกะกล่อง) แต่ถ้าน้ำมันเบรคเกิดเดือดขึ้นมาพร้อมกันทั้งหน้าและหลัง จะเกิดปัญหาขึ้นได้แต่ถ้าเราใช้เบรคหลังเป็นหลักแล้วเกิดปัญหาขึ้น เรายังมีเบรคหน้าที่ใช้หยุดรถได้

จักรยานที่ใช้ดิสเบรคสลิง ดูเหมือนจะได้เปรียบเพื่อนๆเพราะไม่มีน้ำมันให้เดือดเหมือนพวกระบบน้ำมัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต้องคอยระวังคือ ระยะผ้าเบรกไม่สามารถปรับได้ด้วยตัวเองเหมือนกับดิสเบรคน้ำมัน ต้องหมั่นคอยเช็คระยะผ้าเบรคอยู่เสมอ

เบรคจมเกิดจากอะไรและมีวิธีการเอาตัวรอดยังไง(ในเบรคน้ำมัน)
เบรกจมหมายถึงกำเบรกแล้วไม่มีการตอบสนอง สาเหตุเป็นเพราะความร้อนของน้ำมันเบรคที่มากขึ้นจนเกินจุดเดือดของน้ำมัน เมื่อน้ำมันเบรกเดือดจะมีฟองอากาศเกิดขึ้นในระบบทำให้ลูกสูบที่คาลิเปอร์ไม่ตอบสนอง วิธีเอาตัวรอดคือ ตั้งสติถ้าสามารถหยิบน้ำจากกระติกบีบใส่คาลิเปอร์ได้ก็จะเป็นการดี แต่ถ้าทำไม่ได้ ให้ทำการย้ำเบรกไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีการตอบสนอง และเมื่อมีการตอบสนองห้ามปล่อยเบรคโดยเด็ดขาดเพราะถ้าความดันในระบบลดลงจุดเดือดจะลดลงตามไปด้วย แต่ถ้าทำทุกอย่างแล้วไม่มีการตอบสนองก็หาที่เหมาะๆเตรียมสละยานได้เลย

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ช่วยให้ลงเขากันได้อย่างปลอดภัยนะครับ เขียนจากความรู้ ประสบการณ์และการวิเคราะห์ของผมเอง ผิดพลาดตรงไหนหรือมีคำแนะนำก็แสดงความเห็นมาได้นะครับ

 

พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

26/4/18