การใช้เบรกในขณะลงเขา

การใช้เบรกในขณะลงเขา

นักปั่นหลายๆท่านพอเริ่มก้าวพ้นจากการเป็นมือใหม่ ก็เริ่มอยากหาความท้าทายและทดสอบกำลังตัวเองมากขึ้น การขี่จักรยานขึ้นเขานั้นจึงเข้ามาเป็นหนึ่งในบททดสอบนั้น เขาใหญ่ เขาเขียว หรือแม้แต่ดอยอินทนนท์จึงเป็นที่หมายตาหมายใจของนักปั่นที่ต้องการทดสอบตัวเอง บทความนี้เราจะไม่พูดถึงเทคนิคการขึ้นเขาเพราะผมเชื่อว่าแต่ละท่านคงมีวิธีการขึ้นเขา(เอาตัวรอด)ที่แตกต่างกัน เรามาพูดถึงขาลงกันดีกว่า ความมันส์ ความสนุก ความตื่นเต้น รวมถึงความอันตราย รวมอยู่ในขาลงทั้งหมด

หลักการของเบรกคืออะไร
เบรกคือการเปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานความร้อนโดยการเสียดสี พลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นจะถูกถ่ายเทสู่สภาพแวดล้อม เป็นไปตามกฏข้อที่หนึ่งของเทอร์โมไดนามิกหรือกฎการอนุรักษ์พลังงานนั่นเอง พลังงานจากมนุษย์ในการปั่นจักรยานทางราบนั้นจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆกับระบบเบรค(ถ้าทุกอย่างปกติ) แต่ถ้าลงเขาอันนี้แหละอันตราย การที่เราขี่จักรยานขึ้นเขานั้นเท่ากับว่าเราได้มีพลังพลังงานศักย์มากขึ้น ยิ่งขึ้นไปสูงเท่าไหร่พลังงานศักย์ก็มากขึ้นตามไปด้วย เมื่อเราขึ้นไปถึงยอดเขาก็เท่ากับว่าเราได้เปลี่ยนพลังงานจากอาหารที่เรากินเข้าไปกลายเป็นพลังงานศักย์ ขอยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพถึงพลังงานศักย์นะครับ เมื่อขึ้นถึงยอดเขาต่อให้เราหิวจนหมดแรงเราก็ยังสามารถไหลลงเขายาวๆจนถึงข้างล่างได้เพราะนั้นคือการปลดปล่อยพลังงานศักย์ กลับมาเรื่องเบรคกันต่อ ตามที่ได้บอกไว้ในข้างต้นแล้วว่า “ เบรคคือการเปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานความร้อน ” พลังงานศักย์ก็อยู่ในรูปแบบหนึ่งของพลังงานกล ลองคิดดูว่าถ้าพลังงานศักย์ที่ถูกเก็บไว้บนยอดเขาต้องถูกแปลงมาเป็นพลังงานความร้อนเกือบทั้งหมด มันจะเกิดความร้อนขึ้นขนาดไหน

เบรกอย่างไรเมื่อลงเขา
ระหว่างเบรกตลอดเพื่อให้รถลงช้ากับปล่อยไหลลงมาจนรู้สึกว่าเริ่มจะเร็วเกินไปจึงค่อยเบรก อันไหนปลอดภัยกว่ากัน เรื่องนี้ต้องขออ้างถึงกฎการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ พลังงานสามารถเปลี่ยนรูป หรือถูกถ่ายโอนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ แต่ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ หรือทำลายให้สูญสลายไปได้ ” นั้นหมายความว่าในขณะที่เรากำลังขี่จักรยานลงเขาอยู่นั้นพลังงานศักย์กำลังจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนรูป ผมขอใช่คำว่า “ ปลดปล่อยพลังงานศักย์ ” หากเราต้องหยุดหรือชะลอรถนั้นหมายความว่าเราต้องหาพลังงานหรือแรงต้านต่างๆมาสู่กับพลังงานศักย์ ทีนี้มาวิเคราะห์กันว่าในขณะที่เรากำลังจะหยุดหรือชะลอรถนั้นมีแรงต้านอะไรช่วยเราบ้าง(ไม่นับเบรกที่ล้อนะครับ) แรงต้านที่จะช่วยเราหยุดรถมันคือศัตรูในการปั่นของเรานั้นเอง ซึ่งจะประกอบไปด้วย ความฝืดของลูกปืน แรงเสียดทานระหว่างยางกับผิวถนน และแรงต้านอากาศเป็นต้น ในบรรดาแรงต้านที่กล่าวมานี้ แรงต้านอากาศมีผลมากที่สุด และแรงต้านอากาศแปรผันตามความเร็ว(ยิ่งเร็วยิ่งมีแรงต้านมาก) เอาล่ะเรารู้แล้วว่าแรงต้านอากาศมีบทบาทมาก มันช่วยสร้างแรงต้านส่งผลทำให้เบรกทำงานน้อยลง สรุปตรงนี้ก่อนว่า ถ้าเราไหลลงมาช้ามากๆแรงต้านอากาศจะมีส่วนน้อยในการหักล้างกับพลังงานศักย์แต่จะกลายเป็นเบรคที่จะได้รับบทหนัก ย้อนกลับไปที่ระหว่างเบรกตลอดเพื่อให้รถลงช้ากับปล่อยไหลลงมาจนรู้สึกว่าเริ่มจะเร็วเกินไปจึงค่อยเบรก อันไหนปลอดภัยกว่ากัน ตอบได้เลยว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ถ้าผิวถนนดีและไม่มีโค้งอันตราย ควรปล่อยไหล่ลงมาโดยใช้เบรคเพื่อควบคุมความเร็วไม่ให้เร็วเกินไปเท่านั้น ไม่ควรเบรกแช่ยาวๆ แต่ถ้าผิวทางไม่ดีเส้นทางไม่เหมาะจะทำความเร็ว ก็จำเป็นจะต้องใช้เบรคตลอดเวลาเพื่อควบคุมความเร็ว โดยจะต้องมีการจอดพักเบรกเป็นระยะๆ

ใช้เบรคหน้าหรือเบรคหลัง
จักรยานที่ใช้เบรกที่ขอบล้อ เช่น เบรคก้ามปู เบรกผีเสื้อ หรือวีเบรค ควรใช้เบรคให้เท่าๆกันทั้งสองล้อเพื่อไม่ให้เกิดความร้อนสูงมากเกินไปในล้อใดล้อหนึ่งจนเกิดความเสียหายกับยางหรือขอบล้อได้

จักรยานที่ใช้ดิสเบรคน้ำมัน ควรจะใช้เบรคใดเบรคหนึ่งเป็นหลัก ขอแนะนำเป็นเบรคหลัง เมื่อเวลาที่ต้องการหยุดหรือชลอมากกว่าเดิมจึงใช้เบรคหน้าเข้ามาเสริม สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้ก็เพราะ น้ำมันเบรคมีจุดเดือดครับ ถึงแม้น้ำมันเบรคดีๆจะมีจุดเดือดแห้งสูงถึง 260 องศาเซลเซียส(จุดเดือดแห้งคือน้ำมันเบรกแบบใหม่แกะกล่อง) แต่ถ้าน้ำมันเบรคเกิดเดือดขึ้นมาพร้อมกันทั้งหน้าและหลัง จะเกิดปัญหาขึ้นได้แต่ถ้าเราใช้เบรคหลังเป็นหลักแล้วเกิดปัญหาขึ้น เรายังมีเบรคหน้าที่ใช้หยุดรถได้

จักรยานที่ใช้ดิสเบรคสลิง ดูเหมือนจะได้เปรียบเพื่อนๆเพราะไม่มีน้ำมันให้เดือดเหมือนพวกระบบน้ำมัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต้องคอยระวังคือ ระยะผ้าเบรกไม่สามารถปรับได้ด้วยตัวเองเหมือนกับดิสเบรคน้ำมัน ต้องหมั่นคอยเช็คระยะผ้าเบรคอยู่เสมอ

เบรคจมเกิดจากอะไรและมีวิธีการเอาตัวรอดยังไง(ในเบรคน้ำมัน)
เบรกจมหมายถึงกำเบรกแล้วไม่มีการตอบสนอง สาเหตุเป็นเพราะความร้อนของน้ำมันเบรคที่มากขึ้นจนเกินจุดเดือดของน้ำมัน เมื่อน้ำมันเบรกเดือดจะมีฟองอากาศเกิดขึ้นในระบบทำให้ลูกสูบที่คาลิเปอร์ไม่ตอบสนอง วิธีเอาตัวรอดคือ ตั้งสติถ้าสามารถหยิบน้ำจากกระติกบีบใส่คาลิเปอร์ได้ก็จะเป็นการดี แต่ถ้าทำไม่ได้ ให้ทำการย้ำเบรกไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีการตอบสนอง และเมื่อมีการตอบสนองห้ามปล่อยเบรคโดยเด็ดขาดเพราะถ้าความดันในระบบลดลงจุดเดือดจะลดลงตามไปด้วย แต่ถ้าทำทุกอย่างแล้วไม่มีการตอบสนองก็หาที่เหมาะๆเตรียมสละยานได้เลย

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ช่วยให้ลงเขากันได้อย่างปลอดภัยนะครับ เขียนจากความรู้ ประสบการณ์และการวิเคราะห์ของผมเอง ผิดพลาดตรงไหนหรือมีคำแนะนำก็แสดงความเห็นมาได้นะครับ

 

พาย เอกพงษ์ พงษ์ศรีหดุลชัย

26/4/18